เซ็นจ้าง! 3 สัญญาแรก ‘รถไฟทางคู่’ 2.1 หมื่นล้าน

10 ก.ย. 2560 | 08:17 น.
บอร์ดร.ฟ.ท.อนุมัติลงนามจ้างสร้างรถไฟทางคู่ 3 สัญญาแรกมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ยักษ์รับเหมาไทยยังพรึบ มีกิจการร่วมค้าเคเอสควงรับเหมาจีนฝ่าด่านแทรกเป็นหน้าใหม่สำเร็จรายเดียว

แหล่งข่าวระดับสูงการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการรถไฟฯ (บอร์ด ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 3 สัญญา ประกอบด้วย เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลไปด้วยราคา 5,807 ล้านบาท (จากราคากลาง 7,305 ล้านบาท) ตํ่ากว่าราคากลางมากกว่า 1,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.51%

ต่อมาเป็นช่วงนครปฐม-หัวหิน มี 2 สัญญาโดยสัญญาที่ 1 (ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล) บริษัท เอ.เอส.แอสโซเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ชนะประมูลด้วยราคา 8,198 ล้านบาท จากราคากลาง 8,390 ล้านบาท (ตํ่ากว่าราคากลาง 2.29%) ส่วนสัญญาที่ 2 (ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน) ปรากฏว่า บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลด้วยราคา 7,520 ล้านบาท จากราคากลาง 7,676 ล้านบาท (ตํ่ากว่าราคากลาง 2.04%)

นอกจากนั้นบอร์ดยังได้รับรายงานผลการประกวดราคารถไฟทางคู่อีก 6 สัญญา ที่ได้ดำเนินการเคาะราคาได้ตัวผู้รับ จ้างเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย เส้นทางช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 (ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร) สัญญาที่ 3 (งานอุโมงค์รถไฟ) เส้นทางลพบุรี-ปากนํ้าโพ สัญญาที่ 1 (ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม) สัญญาที่ 2 (ช่วงท่าแค-ปากนํ้าโพ) เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 (ช่วงประจวบ คีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) สัญญาที่ 2 (ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร)

P16-3295-f

“จำนวน 6 โครงการดังกล่าวจะเข้าบอร์ดเพื่อรับทราบผลประกวดราคาก่อน จากนั้นจะเสนอขออนุมัติสั่งจ้างในการ ประชุมบอร์ดครั้งหน้า คาดว่าจะเป็นวันที่ 22 กันยายน และต้นเดือนตุลาคมนี้ บางส่วนซึ่งเฟสแรกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ยังมีเฟสที่ 2 อีก 9 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนอีกกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเฟสแรกนี้ (ยกเว้นสัญญา 2 ในเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ) ยังเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด”

โดยการประมูลก่อสร้างทางคู่เฟสแรก 5 เส้นทาง วงเงินลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาทนั้น ร.ฟ.ท.เร่งเปิดประมูลพร้อมเคาะราคาให้ได้ตัวผู้รับจ้างตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทรับเหมาชั้นนำของไทยและต่างประเทศ สนใจซื้อซองเอกสารประกวดราคามากถึง 63 ราย เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) มีนโยบาย ให้แบ่งซอยสัญญาทั้ง 5 เส้นทางออกเป็น 13 สัญญา เป็นงานโยธา 10 สัญญา และอีก 3 สัญญาเป็นเรื่องของงานระบบอาณัติ สัญญาณ ที่จะเร่งเปิดประมูลในปี 2561 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ซึ่งผู้เสนอราคาตํ่าสุดในแต่ละสัญญานั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายใหญ่หน้าเดิมที่คว้างานของร.ฟ.ท.มาแต่เดิมเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอิตาเลียนไทย ที่ชนะประมูลไปถึง 3 สัญญา หรือกลุ่มซิโน-ไทย ยูนิค กลุ่มเอ.เอส. แอสโซซิเอท เป็นต้น มีเพียงสัญญาช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า KS-C Joint Venture (เคเอสร่วมค้า/ไชน่าเรลเวย์11) เบียดชนะประมูลด้วยราคา 6,465 ล้านบาท จากราคากลาง 6,579 ล้านบาท (ตํ่ากว่า 1.75%) ที่เป็นหน้าใหม่

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560