พิเคราะห์การต่างประเทศของไทย ให้‘ราชสถาบันภูฏาน’ฟัง (จบ)

12 ก.ย. 2560 | 23:05 น.
P06-3295-b จนมาถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว โลกตะวันออกทั้งปวงก็ยังเป็นดินแดนเมืองขึ้นฝรั่งนั่นแหละ ยังไม่มีเค้าแววว่าจะมีที่ไหนได้เอกราชคืน ส่วนสยามเรานั้นเป็นเอกราชอยู่ได้ และก็ยังเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง “สันนิบาตชาติ” กับเขาได้เสียด้วย แม้ว่าในที่สุด เมืองขึ้นทั้งหลายจะได้เอกราชคืน แต่ ณ เวลานั้น เราคงไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นฝรั่งด้วยความเชื่อลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่งฝรั่งจะคืนเอกราชให้เรา ตรงข้าม ณ เวลานั้น ฝรั่งยึดดินแดนเหล่านั้นไว้อย่างเด็ดขาด โดยสมบูรณ์ เป็นการถาวรแล้ว

เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าไทยตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เราไม่รบแต่ก็ไม่ยอมแพ้ แต่กลับ “ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางอย่างสันติ” และในเวลาอันรวดเร็วก็ร่วมรบอยู่ข้างญี่ปุ่น บางท่านอาจตำหนิว่าเราฉวยโอกาส แต่คิดย้อนหลังการที่เราตัดสินใจไม่รบกับญี่ปุ่นนั้น ต้องถือว่าถูกต้อง เพราะอย่างไรก็ต้องแพ้แน่ จะรบไปทำไมเพื่อแพ้ และจะยอมสูญเสียชีวิตทหารและผู้คนเรือนพันเรือนหมื่นไปทำไม สู้เป็นไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ไม่มีความทรงจำขมขื่นกับญี่ปุ่นเลยไม่ดีกว่าหรือ

การตัดสินใจเข้าสู่สงครามสู้กับอังกฤษและอเมริกานั้น อาจพอจะถือว่าพลาด แต่ในที่สุดชนชั้นนำเราก็แตกเป็น 2 สาย และสายญี่ปุ่นยอมลงจากอำนาจเมื่อใกล้สงครามจะยุติ และสายอังกฤษอเมริกาสามารถยึดกุมรัฐบาลได้ทันทีหลังสงคราม และก็แทบจะทันที ก็พารัฐนาวาไทยเข้าสู่ค่าย “เสรี” ของอเมริกา มหาอำนาจใหม่ที่ใหญ่ที่สุด และอาศัยอเมริกานี่เองมาช่วยต้านอังกฤษกับฝรั่งเศสไว้ไม่ให้ “ลงโทษ” หรือ “เอาคืน” กับไทยมากนัก

การทูตของเรา มีทั้งหลักการ เช่น ยุคฝรั่งล่าเมืองขึ้น เราสันติที่สุด จะไม่รบกับฝรั่ง โดยไม่ชนะ ท่านทูตสมปองยํ้าในการบรรยายว่า “เราสู้ไม่ใช่เพื่อแพ้ เพื่อตาย เพื่อเสียเอกราช” เราต้องอยู่ต่อไป ให้รอด จึงต้องเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็ยอมฝรั่งได้เสมอ เพื่ออยู่ต่อไปให้รอด ต้องเป็นกลางเคร่งครัด ไม่ยอมเอียง ไม่ยอมเข้าข้างใคร ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็มีความพลิกพลิ้ว เหมือนจะยอมเสียหลักการ แต่ความอยู่รอดของชาตินั่นก็คือหลักการเช่นกัน อาจใหญ่กว่าหลักการปลีกย่อยอื่น เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน ก็กล้าเปลี่ยน เช่น ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะบุก เราประกาศถ้าใครบุก เราจะสู้จนคนสุดท้าย แต่ครั้นรู้ว่าฝรั่งไม่ช่วย ปล่อยเรารบเอง กับญี่ปุ่น ซึ่งเราไม่มีทางชนะ เราก็พลิก ไม่ยอมรบ ยอมต้าน ปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านทางอย่างสันติ

ในยุค “สงครามเย็น” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงปี 2518 แม้ว่าจะเข้าข้างอเมริกา แต่เราก็รู้จักความพอเหมาะพอสม ยับยั้งชั่งใจ ไม่กระโจนเข้าสู่สงครามอย่างเต็มตัว หากรักษาบทบาทเป็นเพียงกองหลัง เป็นเพียงแต่ฐานทัพอากาศให้กับอเมริกา และพลันที่ฝ่ายซ้ายชนะในเขมร ลาวและเวียดนาม เราก็รับรองรัฐบาลใหม่ที่เคยเป็นปรปักษ์เก่ากับเราในทันที และพร้อมๆกับเร่งคืนความสัมพันธ์การทูตกับจีน อีกศัตรูหนึ่งแห่งอดีต เราต้องพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็เพื่อความอยู่รอด ไม่มี “ศัตรูถาวร” ในหลักการทูตของเรา ก็ในเมื่ออเมริกากำลังทิ้งไทยและเอเชียอาคเนย์ไปเสียแล้วในความเป็นจริง เราจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรีบพลิกกลับมาเป็นมิตรกับลาว เขมร เวียดนาม และจีน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเวียดนาม หลังรบชนะอเมริกา บุกยึดกัมพูชาของเขมรแดงในปลายปี 2521 ต่อต้นปี 2522 เราก็ต้องพลิกตัว 180 องศาหันไปเอาจีน “ศัตรูเก่า” มาเป็น “มหามิตรใหม่” ร่วมกันต้านเวียดนาม และร่วมกับอาเซียน “เพื่อนเก่า” ด้วย รวมเป็น 3 แรงแข็งขัน ทัดทานเวียดนามเอาไว้ให้หยุดอยู่แค่ชายแดนไทย-เขมร จำได้ไหมครับ ในช่วงนี้เองที่เราได้เห็นภาพผู้นำสูงสุดของคอมมิวนิสต์จีน คือ ท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง ปรากฏตัวอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงผนวช

P06-3295-a หลังจากเวียดนามยอมถอนทหารออกจากกัมพูชา หลัง ปี 2532 เราก็กลับมาอบอุ่นเป็นมิตรกับเวียดนามที่เราเคยต้าน เป็นมิตรกับลาวที่ใกล้ชิดมากกับเวียดนามในการยึดกัมพูชา และเราก็ญาติดีกับเขมรฝ่ายฮุนเซ็นที่เราเคยหนุนเขมรแดงล้มมาแล้ว ในที่สุดเราก็ร่วมกับอาเซียนอื่นๆ รับเอาลาว เขมร เวียดนาม เข้ามาอยู่ร่วมกันในอาเซียน ยืนยันว่าหลักการทูตแบบไทยนั้น เราไม่มี “ศัตรูถาวร” จริงๆ ทุก “ศัตรู” กลับมาเป็น “มิตร” ได้เสมอ ได้เร็วด้วย ไม่มี “แค้นฝังหุ่น”

จากประเทศที่เคยมีข้าง มีค่าย มีฝ่าย ด้วยความจำเป็น เพื่อ “ความอยู่รอด” ของเรา แต่ ณ เวลานี้ ท่านทูตสมปองสรุป เรา “ไม่มีศัตรู” ใดๆ แล้ว เราเป็นมิตรกับจีน นับวันจะมากขึ้น สำคัญขึ้น แต่ท่านยํ้า “เราจะไม่ทิ้ง จะไม่ยอมห่างกับอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นอย่างแน่นอน” ยังจะเป็นมิตรใกล้ชิดกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่อไป เราจะต้องใกล้ชิดเหนียวแน่นและยึดมั่นในอาเซียนต่อไป เวลานี้ ผมคิดอาจมีเพียงกลุ่มประเทศมุสลิมเท่านั้นที่เราต้องใกล้ชิดขึ้น เป็นมิตรให้มากขึ้น ไปมาหาสู่มากขึ้น

เราทั้ง 2 เชื่อว่าการทูตแบบไทยพอจะยกได้ว่าเป็น “สำนักหนึ่ง” ที่ “มีผลงาน” หรือมี “ความสำเร็จ” รักษาตัวรอดจากยุคล่าอาณานิคม รอดต่อมาถึงยุค “สงครามเย็น” ปลอดภัยมาถึงยุค “หลังสงครามเย็น” ผ่านยุค “สงครามเวียดนามในกัมพูชา” ยุค “โลกาภิวัตน์”

และเชื่อว่าในยุค “บูรพาภิวัตน์” นี้ก็จะรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการทูตที่มี “วุฒิภาวะ” ท่านทูตสมปองกล่าวว่า “นักการทูตเรา พูดค่อนข้างน้อย ไม่โว” โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์น้อย แต่ทำค่อนข้างมาก เป็นมิตร สุภาพถ่อมตน แต่ในส่วนลึกแล้ว พลิกแพลง กล้าสู้ กล้าเสี่ยง กล้าเปลี่ยน แต่ก็ระมัดระวังเสมอ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว