กทม.ตั้งเป้าดันผลิตภัณฑ์ “Bangkok Brand” สู่เวทีสากล

08 ก.ย. 2560 | 11:03 น.
กรุงเทพมหานครตั้งเป้าปั้น Bangkok Brand ให้สามารถส่งออกสู่เวทีสากล พร้อมจัด “โครงการคัดสรร ผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand)” ตราเครื่องหมายการค้า Bangkok Brand พร้อมเปิดตัวผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดคุณภาพและมาตรฐาน 4 ระดับ ทั้ง Platinum, Gold, Silver และ Bronze เผยมุ่งพัฒนากลุ่ม Silver และ Bronze กว่า 500 รายอย่างต่อเนื่องต่อไป

นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการผลักดันโครงการตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย “Bangkok Brand” ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรมาตรฐาน กรุงเทพมหานคร และสร้างคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Identity) ของผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการนำมาเข้าโครงการคัดสรร และผ่านมาตรฐานการคัดสรรจะได้รับตราสัญลักษณ์เครื่องหมายผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ซึ่งถือเป็นตราเครื่องหมายที่สามารถเป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือในสินค้าผลิตภัณฑ์ทั้งด้านมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย ต่อผู้อุปโภคบริโภค

bkkm1

ที่สำคัญโครงการนี้ยังส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเน้นให้ผู้ประกอบทั่วกทม. มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ของตนเองเข้าร่วมการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) เพื่อให้ผู้ประกอบการรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนในกรุงเทพมาหานคร

โครงการดังกล่าวริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 เพิ่มเติมว่า โครงการนี้เดิมต่อยอดมาจากโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางกทม.ได้ดำเนินโครงการในลักษณะของผู้ประกอบการ 1 รายต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากการดำเนินโครงการในช่วง 2 ปีแรก และได้มีการทบทวนเพื่อพัฒนาโครงการ ทางกรุงเทพมหานครจึงได้เพิ่มจำนวนสินค้าเป็นผู้ประกอบการ 1 รายต่อ 3 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการแต่ละรายมีโอกาสผ่านการคัดเลือกเพิ่มขึ้น

bkkm

ทั้งนี้ “โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand)” ประจำปี 2017 ซึ่งแบ่งการจัดระดับกลุ่มประกอบการเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย Platinum, Gold, Silver และ Bronze นั้น นางวิภารัตน์กล่าวว่า
สำหรับมาตรฐานที่ผ่านเกณฑ์และอยู่ในระดับที่พอใจคือ กลุ่ม Platinum และ Gold ซึ่งปีนี้ผ่านเกณฑ์ 56 รายและ 124 รายตามลำดับ ส่วนระดับ Silver และ Bronze ซึ่งปีนี้มีจำนวนโดยรวมกว่า 500 ผลิตภัณฑ์นั้นยังคงเป็นภารกิจของทางกทม.ที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถส่งออกได้ในระดับเวทีสากลด้วย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งมากกว่าเดิม ทางกรุงเทพมหานครก็ยังคงจะจัดโครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมทางด้านความรู้ความชำนาญผ่านการจัดอบรมสัมมนา ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเหล่านี้ ด้วยการหาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank)

bkkm2

หรือแม้แต่การหาตลาดหรือพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสได้แสดงสินค้าหรือจำหน่ายสินค้ากับกลุ่มเป้าหมายหรือประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2561 ทางกรุงเทพมหานคร มีแผนที่จะพัฒนาเว็บไซต์ของ Bangkok Brand ให้เป็นที่พบปะของผู้ซื้อผู้ขาย ตลอดจนทำแคตตาล็อกออนไลน์และแคตตาล็อกแบบรูปเล่ม เพื่อให้จับต้องและเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึง เครื่องหมายผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ว่า ตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย “Bangkok Brand” เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ City Brand ที่เกิดขึ้นมาแล้วในเมืองสำคัญต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ปารีส โตเกียว ฯลฯ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยน Location (ที่ตั้ง) เป็น Destination (เป้าหมายปลายทาง) เนื่องจากกรุงเทพฯก็มีจุดขายที่โดดเด่นไม่แพ้เมืองสำคัญอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและผู้คน มีความสวยงาม มนต์เสน่ห์ที่เป็นแบบฉบับของตนเองอีกทั้งมีความเรียบง่ายแบบไทยๆ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว