‘ปูติน’แนะดึงโสมแดงร่วมศก. แบไต๋ผ่านเวทีEEFมีโครงการเชื่อมลงทุนกันเพียบ

13 ก.ย. 2560 | 04:27 น.
การประชุม อีสเทิร์น อีโคโนมิก ฟอรัม ครั้งที่ 3 (Eastern Economic Forum: EEF) ที่เมืองวลาดิวอสต๊อก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 6-7 กันยายนที่ผ่านมา กลายเป็นเวทีแสวงหาความร่วมมือเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ ในคาบสมุทรเกาหลีที่สุ่มเสี่ยงภาวะสงคราม โดยปูตินเสนอดึงเกาหลีเหนือเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการด้านเศรษฐกิจ และใช้วิธีการทางการทูตดับไฟสงคราม

เมื่อเมืองท่าวลาดิวอสต๊อกทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำรัฐบาลของบรรดาประเทศในแถบเอเชียที่เข้าร่วมประ
ชุม EEF อีกครั้ง โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 3 นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ใช้เวทีดังกล่าวประกาศจุดยืนของรัสเซียในประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของภูมิภาค นั่นคือกรณีทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือกับความพยายามของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นำโดยสหรัฐอเมริกาที่ต้องการยับยั้งโครงการดังกล่าว ผู้นำรัสเซียคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งไม่น่าจะยกระดับความรุนแรงไปสู่ภาวะสงครามซึ่งอาจมีการนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายจะมีสามัญสำนึกในการระงับยับยั้งภาวะสงคราม โดยเขายังเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยวิถีทางการทูต

รัสเซียเองมีแนวพรมแดนที่ติดกับเกาหลีเหนือเกือบๆ 20 กิโลเมตร “ภาวะความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่นเกี่ยวกับโครงการทดสอบขีปนาวุธของรัฐบาลเปียงยางอาจแปรเปลี่ยนกลายเป็นหายนะของโลกได้” นายปูตินเองเชื่อว่านายคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีความวิตกว่าถ้าเกาหลีเหนือเป็นฝ่ายระงับโครงการทดลองนิวเคลียร์ก็อาจถูกคุกคามได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้หารือทวิภาคีกับนายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้และนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มาร่วมประชุม EEF ครั้งนี้ เขาเชื่อว่ายังมีโอกาสของการเจรจาและได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเพลาๆ การใช้สงครามวาจาอย่างที่เป็นอยู่

[caption id="attachment_205820" align="aligncenter" width="503"] TP10-3295-1A ปูติน และนายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้[/caption]

ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) กำลังจัดเตรียมร่างมาตรการควํ่าบาตรเพิ่มเติมเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการสั่งห้ามค้านํ้ามันเชื้อเพลิงกับเกาหลีเหนือ อายัดทรัพย์และห้ามนายคิง จองอึน เดินทางออกนอกประเทศ ผู้นำรัสเซียกลับสงวนท่าทีในเรื่องนี้โดยนายปูตินไม่ได้ระบุว่า เขาสนับสนุนมติดังกล่าวหรือไม่ แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยแสดงความเห็นคัดค้านการเพิ่มมาตรการกดดันเกาหลีเหนือมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือหวาดกลัว เพราะสำหรับนายคิมแล้ว ขีปนาวุธและโครงการนิวเคลียร์เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เกาหลีเหนือจะสามารถใช้ป้องกันตัวเอง

ก่อนหน้านี้ ทั้งรัสเซียและจีนเคยแสดงจุดยืนว่า สนับสนุนการใช้มาตรการ “หยุด” ทั้ง 2 ฝ่าย โดยหากสหรัฐฯต้องการให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนาอาวุธ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ก็จำเป็นต้องยุติการร่วมซ้อมรบในคาบสมุทรเกาหลีเป็นการแลกเปลี่ยน

ในการพบปะกับนายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้นั้น ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวว่าต้องการกระชับความสัมพันธ์และให้ความร่วมมือกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกาหลีใต้เองก็มีนโยบายใหม่ที่จะสานสัมพันธ์กับประเทศทางตอนเหนือซึ่งก็คือรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเองมีนโยบายขยายความร่วมมือมายังประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซียซึ่ง ก็คือ เกาหลีและญี่ปุ่น นายมูน แจ-อิน ยังยํ้าว่ายินดีให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการลงทุนด้านต่างๆของรัสเซียที่ใช้เทคโนโลยีของเกาหลีใต้

ในโอกาสเดียวกันนี้ ตัวแทนของเกาหลีเหนือในที่ประชุม EEF คือนายคิม ยอง แจ รัฐมนตรีกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นทางออกสำหรับวิกฤตการณ์ที่กำลังตึงเครียด เกาหลีเหนือเองสนับสนุนแนวคิดที่จะร่วมมือกับรัสเซียและเกาหลีใต้ แต่ ณ เวลานี้อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ เกาหลีเหนือไม่ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ-ใต้ ด้านนายปูตินกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้
ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องนำเกาหลีเหนือเข้ามีส่วนในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เขายอมรับว่ารัสเซียมีแนวคิดที่จะนำเสนอเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางรถไฟสายทราน-ไซบีเรียกับเส้นทางรถไฟของเกาหลีใต้ผ่านเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือในเกาหลีเหนือและการสร้างท่อนํ้ามันผ่านเกาหลีเหนืออีกด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว