Arty&Fern Eyewear ไอเดียกับความสบายสร้างรายได้หลักล้าน

12 ก.ย. 2560 | 23:00 น.
จากความชื่นชอบจนถึงขั้นหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของแว่นตา สะสมมาแล้วเกือบทุกแบบ และแทบจะทุกแบรนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดที่พอจะซื้อหามาได้ จนมาถึงขั้นสุดที่การอยากทำแว่นเป็นของตนเอง โดยทดลองอยู่หลากหลายรูปแบบ เคยแม้กระทั่งตัดกระดาษมาทาบบนใบหน้า เพื่อดูว่าทรงไหนเหมาะสมกับหน้ามากที่สุด และขึ้นแบบด้วยวัสดุหลายประเภท จนสุดท้ายก็ได้รู้ซึ้งว่านี่ไม่ใช่วิธีการทำแว่นตาที่ถูกต้อง แต่เป็นเพียงแค่แว่นตาแบบแฟชั่น เพราะผู้ที่ใส่แว่นตาที่แท้จริงมีความปรารถนาเพียงแค่แว่นตาที่เบา และสวมใส่สบายในชีวิตประจำวัน

เมื่อตกผลึกทางความคิดจึงทำให้เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันขยับฐานะกลายมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ และกำลังจะกลายเป็นหุ้นส่วนชีวิตอย่างชนกันต์ อุโฆษกุล และอานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง ต้องกลับมาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเรียนรู้การทำแว่นตาที่แท้จริง จนได้พบกับเมืองต้นกำเนิดแห่งการทำแว่นตาอย่างเมืองมาเรต ประเทศฝรั่งเศส และตัดสินใจเดินทางไปเรียนจนจบ Eyewear Manufacturing จาก M.O.F. Eyeglass Craftsmanship school (MeilleursOuvriers de France Lunetiers) โดยถือเป็นคนเอเชียกลุ่มเเรกที่เข้าไปเรียนในที่ดังกล่าว

**แว่นตาเฉพาะบุคคล
ชนกันต์ เริ่มเล่ากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ให้ฟังว่า หลังจากที่เรียนจบการทำแว่นตามา จึงตัดสินใจเปิดร้านทำแว่นร่วมกับอานิกนันท์ในปี 2559 ภายใต้แบรนด์ “Arty&Fern Eyewear” โดยเป็นร้านทำแว่นตารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การทำเเว่นตาเฉพาะบุคคล (Custom made eyewear) หรือจะกล่าวก็คือ การออกแบบเเว่นตาจากโครง สร้างใบหน้าเเละสไตล์ของเเต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการออกเเบบเพื่อเเก้ปัญหาให้ผู้ที่ใส่เเว่นตาได้ใส่เเว่นตาที่พอดี ตอบโจทย์การใช้งาน เเละได้รูปทรงเเว่นตาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเเต่ละบุคคลโดยถือเป็นร้านแรก ของประเทศที่ให้บริการในรูปแบบดังกล่าว

สำหรับวัสดุหลักของตัวเเว่นตาที่ใช้ ก็คือ Cellulose Acetate ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้เศษฝ้าย เป็นต้น นำมาเข้ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำปฏิกิริยาเคมีจนกลายเป็นแผ่น ที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดีกว่าพลาสติก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ โดยนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งทางร้านจะคัดเลือกโทนสีเเละลวดลายหลากหลายที่เหมาะกับสีผิวเเละสไตล์ของคนเอเชีย ให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบ

อานิกนันท์ กล่าวเสริมว่าแรกเริ่มที่เปิดให้บริการจะมีลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 2-3 รายต่อเดือน แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคว่าแว่นตาเฉพาะบุคคลเป็นอย่างไร ไม่ใช่แว่นตาที่มีกรอบสำเร็จให้เลือกและลูกค้ามาเลือกสีสันใส่ลงไป ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 10 รายต่อเดือน ซึ่งถือว่าเยอะมากเพราะแว่นตา 1 อันจะต้องใช้เวลาทำประมาณ 3 สัปดาห์ ส่งผลให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยขั้นตํ่าอยู่ประมาณ 9,000 บาทต่อ 1 อัน หากเป็นแว่นตาทรงทั่วไปที่ใส่ในชีวิตประจำวัน แต่หากเป็นรูปแบบของแว่นตาที่มีสไตล์ หรือแว่นตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคลก็จะอยู่ประมาณ 12,000 บาท **ขยายฐานลูกค้า

อานิกนันท์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในปี 2560 คาดว่ารายได้ของร้านจะเติบโตขึ้นประมาณ 20% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านบาท และจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ในการขยายตลาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยในปี 2561 จะเริ่มนำแว่นตาที่มุ่งเน้นการดีไซน์ด้วยความคิดสร้างสรรค์แบบพร้อมใส่สำหรับผู้หญิงไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โดยได้ดำเนินการประ สานงานไว้แล้วที่สยาม เซ็นเตอร์รวมถึงห้างไอคอนสยาม และเอ็มควอเทียร์ เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า รวมถึงสามารถเข้าใกล้ผู้บริโภคได้มากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภค

TP13-3295-1A นอกจากนี้ ก็จะทำเว็บไซต์ของร้านอย่างเป็นทางการ เพื่อรอง รับกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะไม่นิยมติดต่อผ่านทาง
เฟซบุ๊ก หรือแอพพลิเคชันไลน์เหมือนผู้บริโภคในประเทศพร้อมขยายฐานลูกค้าไปสู่ต่างประเทศ ด้วยการออกงานแสดงสินค้าร่วม
กับกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจะทำให้ได้พบกับกลุ่มลูกค้า หรือตัวแทนจำหน่ายของแต่ละประเทศโดยตรง ทั้งนี้ล่าสุดมีลูกค้าจากประเทศฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆในเอเชียติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อขอร่วมทำธุรกิจ โดยจะเป็นแผนในระยะสั้นช่วง 3-5 ปีที่คาดว่าจะทำได้

ชนกันต์ กล่าวเสริมว่า แผนในระยะยาวช่วง 10 ปี คือการขยายสาขาออกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ โดยปัจจุบันกำลังดำเนินการ
เตรียมความพร้อมด้วยการเปิดสอนกระบวนการผลิตแว่นตาเฉพาะบุคคล เพื่อเสริมรายได้ควบคู่ไปกับการคัดสรรทีมงานคุณภาพที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขยายธุรกิจ ขณะที่ภาพของธุรกิจในอนาคตต้องการให้ร้าน Arty&Fern Eyewearเป็นสถานีบริการแว่นตาแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลนส์ รวมถึงแว่นตาแบบเฉพาะบุคคล หรือแว่นตาแบบมีดีไซน์

**จริงใจต่อลูกค้า
หากถามถึงกุญแจสู่ความสำเร็จ ชนกันต์ บอกว่า อยู่ที่ความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อลูกค้า โดยยึดเอาตนเองที่ต้องการบริการที่ดีที่สุดเป็นที่ตั้ง และนำสิ่งนั้นมอบให้กับลูกค้า เช่น ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาเพื่อขอให้เปลี่ยนแป้นรองจมูก หรือนอตให้ เราก็จะทำการเปลี่ยนให้โดยไม่ได้คิด
ค่าบริการ เมื่อแว่นตาลูกค้าเกิดมีปัญหา ร้านที่ลูกค้าจะนึกถึงเป็นลำดับแรกก็ร้านเราเสมือนใช้ใจแลกใจ ส่วนเรื่องการทำงานก็คือการลงมือทำอย่าเพียงแต่แค่คิดเพราะหากมัวแต่คิดทุกอย่างก็จะไม่เริ่มต้น หรืออาจมีผู้อื่นที่คิดได้แล้วลงมือทำ เราก็จะกลายเป็นผู้ตาม ดังนั้นเมื่อคิดได้แล้วจะต้องลงมือทำเลยฃ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว