“วุฒิสาร” ย้ำผลสำรวจความเห็น ไม่ได้เทียบความนิยมตัวนายกฯ

08 ก.ย. 2560 | 10:34 น.
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ายัน ผลการสำรวจความเชื่อมั่นนายกฯ เป็นการสะท้อนความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่การเปรียบเทียบความนิยมต่อนายกรัฐมนตรี วอนทุกฝ่ายทำความเข้าใจหลักการทำวิจัย ก่อนนำไปตีความ

วันนี้ (8 ก.ย. 60) - เว็บไซต์ www.radioparliament.net รายงานว่า รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเชื่อมั่นนายกรัฐมนตรี ว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ไม่ใช่การทำโพล แต่เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจ และบริการสาธารณะของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจมาตั้งแต่ ปี 2545

org_236495705

โดยในปีนี้ (2560) มีการสุ่มตัวอย่างจำนวน 33,420 ตัวอย่าง จากทุกจังหวัด มีประเด็นการสำรวจ 3 ชุดคำถามหลัก คือ 1. ความพึงพอใจและความไม่พึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาล 2. สำรวจความเชื่อมั่นต่อบุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ  3. การสำรวจความพึงพอใจต่อการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า นโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจสูงสุด คือ นโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ , นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ , นโยบายหลักประกันสุขภาพ และนโยบายการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดิน

ส่วนนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจต่ำกว่าร้อยละ 50 คือ การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ส่วนผลความพึงพอใจที่มีต่อองค์กรและสถาบัน อันดับแรก คือ อาชีพแพทย์ รองลงมา คือ ทหาร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับสูง ขณะที่ องค์กรพัฒนาเอกชน สภาองค์กรชุมชน และพรรคการเมือง ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

รศ.วุฒิสารกล่าวว่า ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสถาบันวิชาการ ที่ต้องการสะท้อนความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายสาธารณะของรัฐบาล และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการ องค์กรอิสระ และสมาชิกรัฐสภา นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข โดยงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการวิจัยเปรียบเทียบความนิยมของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลแต่ละชุด แต่เป็นการอธิบายถึงผลลัพธ์ของรัฐบาลที่เกี่ยวโยงกับบริบท ณ ช่วงเวลานั้น ดังนั้น หากสื่อมวลชน และผู้ที่นำผลการศึกษาดังกล่าวไปเปรียบเทียบการดำเนินงานของแต่ละรัฐบาลนั้นต้องเข้าใจถึงหลักการทำการวิจัยด้วย

ต่อข้อถามถึงกรณีความเห็นของนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ระบุว่า ผลการสำรวจดังกล่าวอาจทำให้เกิดความแตกแยก และควรปฏิรูปการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า ให้รองรับรัฐสภาให้มากขึ้นนั้น รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะทำความเข้าใจผลการสำรวจ โดยส่วนตัวอยากให้พิจารณาข้อเท็จจริงและเป้าหมายของงานวิจัยด้วย นอกจากนี้สถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานต่อรัฐสภาทุกปี ตระหนักถึงการปฏิรูปและมีปรับปรุงการทำงานมาโดยตลอด แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันปฏิรูปตนเองด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว