จากเลนส์สู่เรื่องราว...บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 2

10 ก.ย. 2560 | 00:22 น.
“ทุกครั้งที่มองไปยังพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่ และงดงาม ส่วนลึกของจิตใจยังคงเศร้าเสียใจเสมอ หากแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางการกระทำ แต่ออกมาทางภาพถ่าย

MP26-3295-6 ดังนั้นการกดชัตเตอร์แต่ละครั้งเพื่อบันทึกภาพในชั่วขณะนั้น จึงมีความสำคัญกับเด็กคนหนึ่งซึ่งได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้”
จุดเริ่มต้นของความทรงจำกับการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งสำคัญในชีวิตของเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2559 วันที่มีพิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเย็น วันนั้นคุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน คุณครูที่ปรึกษาชมรมฯ จึงพาพวกเราไปถ่ายภาพที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศการทำงานของนายช่างสิบหมู่ในสถานที่จริงอีกเช่นกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อบันทึกภาพเบื้องหลังการทำงานของบุคคลผู้มีความชำนาญในสถาปัตยกรรมด้านต่างๆ

MP26-3295-2 คุณลุงท่านหนึ่งซึ่งคาดเดาได้ว่าน่าจะมีอายุล่วงเลยวัย 60 ปีมานานแล้ว กำลังนั่งแกะลายครุฑลงบนไม้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อประดับบนพระที่นั่งราเชนทรยานที่เริ่มขึ้นโครงร่างรอการตกแต่งตามการออกแบบที่ติดอยู่บนฝาผนังผืนใหญ่ พัดลดตัวเล็กหมุนไปมาอย่างช้าๆ เพื่อคลายความร้อนจากไอแดดที่เริ่มส่องเข้ามาบริเวณโต๊ะทำงาน ความนิ่งของเครื่องมือคู่ชีพที่ค่อยๆ เซาะไปตามร่องไม้ท่ามการบรรยากาศที่เริ่มหนาแน่นจากพี่ๆ สื่อมวลชนที่ทยอยเข้ามาสิ่งที่สัมผัสได้จากคุณลุงคือความมุมานะและตั้งใจในการทำงานเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้กับพวกเราในการทำงานต่อไป คุณลุงอายุมากแล้ว แต่ยังคงนั่งทำงานซึ่งอาจจะเป็นพรสวรรค์ “ความสามารถ” ที่ท่านได้รับ "เรื่องบางเรื่อง ใครก็แทนที่ใครไม่ได้ เพราะแต่ละคนย่อมมีอัตลักษณ์ของตัวเอง" ช่างภาพหลายคนได้ถ่ายภาพคุณลุงขณะทำงานไว้ เพื่อหวังจะกลับมามอบให้คุณลุงอีกครั้งในโอกาสต่อไปที่ได้มายังสำนักช่างสิบหมู่

เมื่อช่างภาพเยาวชนจิตอาสาไปต่อยังโรงปั้น ก็ได้พบกับนายช่างประติมากรรมอีกนับสิบชีวิตที่กำลังตั้งใจปั้นรูปทรงของสัตว์หิมพานต์ เทพ เทวดาต่างๆเพื่อตั้งประกอบในฐานชาลาแต่ละชั้นของพระเมรุมาศ และสายตาเล็กๆ หลังเลนส์ก็ไปสะดุดกับช่างประติมากรรมคนหนึ่งซึ่งกำลังปั้นช้าง สัตว์มงคลประจำทิศเหนือ สายตาที่จับจ้องบนรูปทรง การเกลี่ยเม็ดดินแต่ละเม็ดให้ได้รูปสะท้อนความรู้สึกความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ไม่ได้ต่างไปจากคุณลุงที่กำลังแกะลายครุฑในตึกที่เพิ่งผ่านมา การมองต้นแบบขนาดเล็ก เพื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนที่เหมาะสมและสมดุล เป็นการใส่ใจรายละเอียดที่คนอื่นแทบมองไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างที่เพื่อนๆ ในชมรมฯ กระจายไปในจุดต่างๆ ไม่รู้ว่าด้วยเพราะแรงจูงใจใด กล้องตัวใหญ่ในมือก็ยังตั้งอยู่และค่อยๆจับ อิริยาบทของนายช่างกับงานประติมากรรมช้างที่อยู่เบื้องหน้า

MP26-3295-1 เขาได้ปั้นและแก้อยู่หลายรอบเมื่อเทียบกับตัวต้นแบบแล้วยังคงไม่เป็นที่พอใจของเขา แต่ในมุมมองช่างภาพ ที่ไม่ใช่ช่างปั้นก็ยังคงไม่เห็นความแตกต่างใดๆ นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบในหัวสมองที่ว่า "คนที่ทำจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด"

ใกล้ถึงเวลา พวกเราออกเดินทางไปยังท้องสนามหลวงซึ่งในขณะนั้นยังเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ไร้ซึ่งสิ่งก่อสร้างใดๆ ภาพที่เห็นในกรอบสายตาคือสื่อมวลชนมากมายอยู่รายรอบส่วนที่จัดไว้สำหรับตอกหมุดทั้ง 9 จุด เพื่อกำหนดตำแหน่งอ้างอิงในการวางผังเพื่อทำการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวคิดหลักของการออกแบบวางผัง โดยกรมศิลปากร เมื่อถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ดวงอาทิตย์ในฤดูหนาวกำลังตั้งท่าจะคล้อยต่ำลงทางด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พิธีการปักหมุดยังคงดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้นพิธี ประชาชนหลายต่อหลายคนได้เข้ามาถ่ายภาพกับหมุดแต่ละจุด อาจด้วยความคิดที่ว่า “นี่คือส่วนหนึ่งของพระเมรุมาศ และหากไม่เข้ามาเก็บภาพในตอนนี้ คงไม่มีอีกแล้ว ในชีวิตนี้”

MP26-3295-5 "เวลานี้มาถึง ก็ใจหายเหมือนกัน เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน" กว่าที่จะมีพระเมรุมาศที่งดงามและยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ เริ่มต้นจากพื้นดินเรียบๆ ค่อยๆก่อตัวขึ้นเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่ คนหลายคนต้องเปื้อนดินเปื้อนทราย ปรับหน้าดิน ขุดพื้นดินให้เป็นทางน้ำ เพื่อเป็นสระอโนดาษ ปลูกหญ้า จัดสวน ปูถนน เพื่อให้สถานที่ตั้งพระเมรุมาศสมบูรณ์พร้อมที่สุด

การเข้าร่วมกับกรมศิลปากร ในนาม “ช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร” ทำให้พวกเราได้เข้าไปในบริเวณก่อสร้างพระเมรุมาศ สิ่งก่อสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบริเวณโรงขยายแบบ โรงปั้น โรงประกอบพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้เราได้บันทึกภาพจิตอาสา กรมศิลปากรในส่วนงานต่างๆ และยังได้เห็นความคืบหน้าที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของพระเมรุมาศ

MP26-3295-3 "หลายครั้งที่ความเป็นเด็กยังทำให้ทำอะไรแบบเด็กๆ ไม่ได้คิดทุกขณะเวลาที่กดชัตเตอร์ว่ามีคนต้องการภาพจากเราอยู่ แต่ความเป็นเด็กนั้น เป็นสิ่งที่สอนเราให้เป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา คือหลังจากที่เราได้รับบทเรียนจากความเป็นเด็กแล้ว เราก็เริ่มที่จะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น"

ทุกครั้งที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศในจุดต่างๆ สิ่งที่เราได้รับคือโอกาสในการเข้าพื้นที่เพื่อกลับไปหานายช่างกรมศิลปากรและพี่ๆ จิตอาสาอีกครั้ง การกลับไปแต่ละครั้งพวกเราไม่ได้มีเฉพาะกล้องและหัวใจแห่งความมุ่งมั่นเหมือนเคย แต่กลุ่มช่างภาพเยาวชนจิตอาสาฯ ได้เตรียมอัดภาพขนาด 4x6 เป็นของติดไม้ติดมือไปด้วยหวังจะมอบให้เจ้าของภาพ ซึ่งเป็นภาพที่บันทึกไว้เมื่อครั้งนานมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปยังสำนักช่างสิบหมู่ เมื่อภาพที่เราอัดไปปรากฏต่อสายตาของบุคคลที่อยู่ในรูป สิ่งที่เราได้ตอบรับกลับมาคือความปลื้มปิติที่เก็บไม่อยู่ของพวกเขา ทำให้รอยยิ้มปรากฏออกมาด้วยความตกใจและคำขอบคุณ ด้วยใจที่คิดว่าตัวเขาเองก็มีภาพขณะทำงานเบื้องหลังแบบนี้เช่นกัน "เมื่อผู้รับส่งต่อรอยยิ้มมาให้ผู้ให้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปฏิเสธความสุขที่ได้รับกลับคืนจากรอยยิ้มของพวกเขา"

[caption id="attachment_205324" align="aligncenter" width="335"] ภาพและเรื่องโดย น.ส.ศิรภัสสร กังสัมฤทธิ์ (น้องมุก) ช่างภาพชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ภาพและเรื่องโดย น.ส.ศิรภัสสร กังสัมฤทธิ์ (น้องมุก) ช่างภาพชมรมเด็กหลังเลนส์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์[/caption]

หากจะถามถึงความรู้สึกของกลุ่มศิรภัสสร กังสัมฤทธิ์หรือในมุมมองของคนทั่วไปคือเด็กถือกล้อง ว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้มีโอกาสเข้าไปในบริเวณพระเมรุมาศเพื่อบันทึกภาพอย่างนี้ ในคำตอบคงมีหลายความรู้สึกที่ตีกันอยู่ภายในใจ แต่ความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นความภาคภูมิใจที่ได้มีภาพประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง และอีกหนึ่งความรู้สึกคือรู้สึกขอบคุณโอกาสที่ท่านอธิบดีกรมศิลปากรได้ให้กับช่างภาพเยาวชนจิตอาสา หากไม่มีโอกาสนี้จากท่าน ทุกๆอย่างคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และสุดท้าย สิ่งที่เราจะสามารถทำได้คือ "ทำหน้าที่ให้ได้ดีที่สุด"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว