วิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่ภาพรวม แสงไฟสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

10 ก.ย. 2560 | 00:10 น.
การมีหลักคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Hard science สำหรับการดำรงชีวิตจริงๆ คงไม่เพียงพอ มนุษย์ทุกคนควรมีความรู้และความเข้าใจในส่วนของ Soft science ผนวกเข้าไปอันประกอบไปด้วย ความรู้เรื่องการจัดการ ทัศนคติเชิงบวกในการเข้าสังคม การปฏิบัติตนในที่สาธารณะ รวมทั้งการเข้าใจกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งทั้งสองสิ่งคือส่วนผสมที่กลมกล่อมในการสร้างแหล่งกำเนิดพลังงานที่ดีสำหรับการปฏิบัติงานและดำรงชีวิตของทุกคนให้
เกิดความสมดุล

“ต่อให้เราทำงานวิจัยและพัฒนาจนได้ผลลัพธ์อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่สามารถนำเอาวิชาความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาประเทศชาติและสร้างความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทยได้ สิ่งที่ทำลงไปคงไม่มีความหมาย ฉะนั้นนัยของชีวิตสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การนำเอาความรู้ ความเข้าใจและความสามารถมาต่อยอด บ่มเพาะ และสร้างฐานรากที่ดีเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในทุกลมหายใจด้วยความภาคภูมิใจ และนั้นก็คือ ลมหายใจของผม” คำกล่าวที่มาพร้อมกับแววตาที่มุ่งมั่นและน้ำเสียงที่แน่วแน่ คือ กระบวนการคิดที่แข็งแกร่งเตรียมพร้อมสู่สำหรับการปฏิบัติงานและปลูกฝังทีมงานของ ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

[caption id="attachment_205106" align="aligncenter" width="472"] ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)[/caption]

หลังจากจบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โรงเรียนนายเรืออากาศรุ่น 27ศ. นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ตัดสินใจรับโอกาสในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเฉพาะทางอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ระบบไฟฟ้าและพลังงาน จากนั้นเข้ามาเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนนายเรืออากาศประมาณ 6 ปี ระหว่างนั้นตนได้รับการชักชวนจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เพื่อเข้ามาวางรากฐานด้านการศึกษาโดยเฉพาะความรู้ความสามารถวิศวกรรมไฟฟ้า ด้านความชำนาญเฉพาะทางระบบควบคุมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมกับพัฒนามหาวิทยาลัยฯอีกหลากหลายด้าน จนได้รับการโปรดเกล้าฯ “ศาสตราจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” จากนั้นต่อมาด้วยความรู้ความสามารถ ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ จึงได้รับคัดเลือกให้เป็น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบันก้าวสู่วาระที่ 2 ในการดำเนินงานพร้อมปักหมุดสถาบันฯให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนด้านแสงซินโครตรอน เพื่อสนับสนุนประเทศในการพัฒนาด้านอาหาร การเกษตรและอุตสาหกรรม

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนขยายความกรอบการดำเนินงานและภารกิจของสถาบันฯว่าสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) คือหน่วยงานหลักภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนควบคู่ไปกับการให้บริการเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนอย่างครบวงจรให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมของไทย ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งเสริมการถ่ายทอดและการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนผ่านการจัดการอบรมสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ที่สำคัญมุ่งพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน โดยเริ่มตั้งแต่ในระดับภาคการศึกษา และสุดท้ายคือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยการทำบันทึกความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนของนักวิจัยในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมีประโยชน์อย่างกว้างขวาง สามารถนำมาวิเคราะห์ วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์สำหรับวัตถุต่างๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล เหมาะแก่การพัฒนาและต่อยอดในมิติต่างๆ เช่น วัสดุทางชีวภาพจำพวกเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ หรือจะเป็นวัสดุทางกายภาพอย่างโลหะ เหล็ก รวมทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ การแพทย์ และภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ขับเคลื่อนต่อไปตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้วยความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

Mp25-3295-c นอกจากการดำเนินงานและพัฒนาสถาบันฯสิ่งที่ผู้อำนวยการท่านนี้ให้ความสำคัญ คือ “บ่มเพาะและต่อยอด” ซึ่งตนเน้นย้ำกับทีมงานเสมอว่า “เมื่อเรามีความรู้ ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์เราต้องหาโอกาสสำหรับการบ่มเพาะการดำเนินงานในเชิงบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนและยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง” โดยทางสถาบันฯปรารถนาที่จะเห็นคนไทยหรือผู้ประกอบการไทยริเริ่มและสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆรองรับการเปลี่ยนแปลงอันฉับไวของสังคมโลก อาทิ การผลิตแม่เหล็ก อุปกรณ์สูญญากาศ เครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งทั้งหมดเป็นกลไกสำคัญสู่การผลิดอกออกผลอาชีพใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถศักยภาพของประเทศให้ก้าวไกลและทัดเทียมระดับสากล

ทั้งนี้ในแง่มุมของการต่อยอด ทางสถาบันฯ มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในหน่วยงานพร้อมกับเปิดโอกาสให้เยาวชนและสถาบันนานาชาติต่างๆได้เข้ามาศึกษาห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีแสงซินตรอน จังหวัดนครราชสีมา ได้ในทุกช่วงเวลา อย่างไรก็ดีเรายังปลูกฝังนักวิทยาศาสตร์ทุกคนให้ตระหนักถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อภาพรวมของประเทศเป็นแกนสำคัญ เพราะเมื่อประเทศมีความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราก็พร้อมที่จะก้าวผ่านขีดจำกัดเดิมๆ ที่มีอยู่สู่โลกใบใหม่ ซึ่งทุกคนในชาติจะพบกับความผาสุกอย่างยั่งยืน

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิเล่าต่ออีกว่า หากเปรียบแสงซินโครตรอนเป็นมุมมองการใช้ชีวิต มนุษย์ทุกคนต้องมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สำหรับทุกวัน เพราะแสงซินโครตรอนมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความส่องสว่างที่มีมากกว่าแสงทั่วไปในเวลากลางวันกว่า 1 ล้านเท่า ครอบคลุม 4 ช่วงความยาวคลื่น นับตั้งแต่ แสงอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น แสงอัลตราไวโอเลต และรังสีเอกซ์ ฉะนั้นการทำตัวเองให้มีคุณสมบัติอันโดดเด่นเฉกเช่นแสงดังกล่าวเราต้องมีความหมั่นเพียร วิริยะอุตสาหะ วินัยและคุณธรรม ครอบคลุมกระบวนการคิดในทุกด้านเพื่อหล่อหลอมการปฏิบัติให้เกิดเป็นแบบอย่างและส่งต่อต้นแบบแนวคิดดังกล่าวให้เกิดการปฏิบัติตามที่ดีงาม

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินชีวิต ผมรู้สึกดีใจและมีความพร้อมกับทุกโอกาสที่ได้รับ ทั้งในด้านวิชาชีพจากการเป็นอาจารย์สอน ด้านวิชาความรู้วิศวกรรมไฟฟ้าจากโรงเรียนนายเรืออากาศ รวมทั้งแนวคิดด้านรัฐศาสตร์จากวิชาทหารที่ได้นำมาใช้ในการบริหารและจัดการหน่วยงานในฐานะผู้อำนวยการฯคนปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดคือเชื้อไฟที่สำคัญในการก้าวเดินต่อไปสำหรับการยกระดับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับประเทศให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว