เจ้าหนี้สะอึก! ลูกหนี้เฮ! กม.ห้ามยึดเงินเดือน ใช้แล้ว

06 ก.ย. 2560 | 15:55 น.
มีผลแล้วกฎหมายใหม่ ห้ามยึดทรัพย์ลูกหนี้ กรณีเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาท พร้อมรายละเอียดทรัพย์สินอะไรยึดได้ หรือไม่ได้ ตั้งแต่ วันที่ 4 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ามีผลแล้วอย่างเป็นทางการตามกำหนด 60 วัน หลังจากที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ครั้งนี้ ถือเป็นประเด็นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มลูกหนี้และเจ้าหนี้พอสมควร

โดยนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กฎหมายได้ห้ามไม่ให้อายัดเงินดือนของลูกหนี้ หากลูกหนี้มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 10,000 บาท

ทบทวนรายละเอียดของ กฎหมายยึดทรัพย์ฉบับใหม่

กรณีใดบ้างที่จะโดนยึดหรืออายัดทรัพย์สิน?

การยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่ง หลังจากนั้นลูกหนี้ไม่ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดเวลานั้น ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีให้มีการยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้

ใครเป็นผู้มีอำนาจยึดทรัพย์ ?

ในการดำเนินการยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาล มีเพียงเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีเท่านั้น ที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ยึด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งจะนำทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดได้นั้นไปทำการยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาด เพื่อจะได้นำเงินที่ขายของได้มาชำระหนี้ให้โจทก์หรือเจ้าหนี้ต่อไป

ทรัพย์สินใดบ้าง ที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้และไม่ได้?

ทรัพย์สินที่สามารถยึดได้

- ของมีค่า เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็น เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า

- บ้าน ที่ดิน และถึงแม้ว่าจะยังติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้เช่นกัน

- รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ

- เงินในบัญชีเงินฝาก หรือเงินปันผลจากการลงทุน ๆ

- ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน อาทิ หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือ กองทุน

เงินเดือนจากการทำงานของลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จึงจะยึดได้

ทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดได้

- ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท (ส่วนเกินสามารถยึดได้)

- เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท (ส่วนเกินสามารถยึดได้)

- ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ติดไฟแนนซ์

- สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือแทนอวัยวะของลูกหนี้

- เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ จะไม่สามารถทำการยึดหรืออายัดได้ หรือหากเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แล้วเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท

- เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ

- รายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (ส่วนเกินสามารถยึดได้)

- บำเหน็จ หรือรายได้อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ของพนักงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่มีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท (ส่วนเกินสามารถยึดได้)

-เงินฌาปนกิจสงเคราะห์