เอกชนดักทาง ภาษีเหล้าเบียร์

09 ก.ย. 2560 | 12:55 น.
ยอดซื้อแสตมป์ภาษีบาป สุรา ยาสูบ ไพ่ เดือนล่าสุดเพิ่มกว่า 100 ล้านบาท ดักทางรัฐบาลประกาศพิกัดสัปดาห์หน้า อธิบดีสรรพสามิตยอมรับผลทางจิตวิทยาจากภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ 16 กันยายนนี้ ยันราคาสินค้าไม่ขึ้น
พระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นการรวมกฎหมายสรรพสามิต 7 ฉบับที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน คือ กฎ หมายว่าด้วยสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ กฎหมายว่าด้วยไพ่ กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นสากล และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีการปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน สำหรับผู้ประกอบการในประเทศหรือราคานำเข้า CIF สำหรับสินค้านำเข้ามา มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ทำให้ต้องมีการกำหนดอัตราภาษีใหม่ เพื่อไม่ให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนผลักภาระไปให้ผู้บริโภค

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่เป็นการจัดเก็บทั้งมูลค่าและปริมาณรวมกัน จากเดิมที่จัดเก็บจากมูลค่าหรือปริมาณ อันใดอันหนึ่งที่สูงกว่า จึงเป็นที่มาว่า ทำไมครั้งนี้ จึงมีการจัดเก็บภาษีจากปริมาณความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนํ้าตาลในปริมาณสูง จากเดิมที่เครื่องดื่มบางชนิดไม่ต้องเสียภาษีเลย

[caption id="attachment_204836" align="aligncenter" width="503"] สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต[/caption]

เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะจัดเก็บภาษีจากทั้งมูลค่าและปริมาณแอลกอฮอล์หากปริมาณแอลกอฮอล์สูง ก็ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อฐานในการคำนวณภาษีใหญ่ขึ้นทั้งราคาและปริมาณ อัตราภาษีที่จะคิดก็ต้องลดลงด้วย เพื่อโดยรวมแล้ว ภาระภาษีของผู้ประกอบการจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต้องพอๆ กับของเดิม เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นด้วย

“การปรับภาษีใหม่ครั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลและไม่ได้ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้การจัดเก็บภาษีทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและจากต่างประเทศจะต้องเป็นอัตราเดียวกัน ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงหลักการดูแลสุขภาพตามข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย และหลักการในระยะต่อไป จะเน้นการจัดเก็บจากฐานปริมาณมากขึ้น” นายสมชาย กล่าว

สำหรับกรณีที่มีผู้ประกอบการมาเบิกแสตมป์ภาษีจากสรรพสามิตพื้นที่เพิ่มขึ้นนั้น นายสมชาย กล่าวยอมรับว่า ยอดการเบิกแสตมป์ภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นนัยสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับภาษีที่จัดเก็บได้ประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลทางจิตวิทยา ที่เกรงว่าภาระภาษีจะเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างภาษีใหม่ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิตเองได้เร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ถึงโครงสร้างภาษีใหม่ว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ทั้งวิธีการขออนุญาต การชำระภาษี ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้ทำความเข้าใจไปหลายครั้ง ทั้งผ่านสภาหอการค้าสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย และรายอุตสาหกรรมเองก็หลายครั้งรวมถึงสรรพสามิตพื้นที่เองก็เร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้า

กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีงวด 10 เดือนแรกของปีงบ ประมาณ 2560 จัดเก็บได้ 465,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.75% และสูงกว่าประมาณการ 1.39% ภาษีนํ้ามันเก็บได้สูงสุด 180,710 ล้านบาท ภาษีรถยนต์ 82,406 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 74,247 ล้านบาท ภาษีสุรา 51,535 ล้านบาท ภาษียาสูบ 55,647 ล้านบาท และภาษีเครื่องดื่ม 14,604 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว