ผ่าแผนน้ำ คสช. ทุ่มครึ่งแสนล้านต่อปี แก้ทุกมิติ

11 ก.ย. 2560 | 13:36 น.
ผ่าแผน 12 ปี ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ “รัฐบาลประยุทธ์” ทุ่มงบปีละกว่าครึ่งแสนล้านบาท ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค เน้นใช้งบปกติ 9 กระทรวง 34 หน่วยงาน 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี พ่วงโปะงบเพิ่มเติมตามความจำเป็น “ฉัตรชัย” คุยผลงาน 3 ปี เทียบเท่า 12 ปี ของรัฐบาลที่ผ่านมา

จากที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ได้ยกเลิกแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2557 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ปี 2558-2569 (แผน 12 ปี) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติใช้แผนเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 โดยให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไปนั้น

 

TP2-3294-3

 

ทุ่มปีละครึ่งแสนล้าน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศราฐกิจ” ว่า หลังจากที่ ครม. ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 12 ปี แล้วได้หมดหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ยังคงเป็นกรรมการใน กนช. อย่างไรก็ดี ในแผนยุทธศาสตร์น้ำข้างต้นจะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งจะแตกต่างจากแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในรัฐบาลชุดก่อน ที่เน้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ ยังมีความแตกต่างในการใช้งบประมาณ โดยการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในแต่ละปีจะใช้งบปกติของ 9 กระทรวง รวม 34 หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ ไปใช้ดำเนินการ ซึ่งแต่ละปีจะมีงบรวมกันประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท แต่หากปีใดต้องใช้งบมาก ไม่เพียงพอ ก็จะใส่เพิ่มเติมลงไปอีก (งบเงินกู้เฉพาะเร่งด่วนจำเป็น) ซึ่งจะอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาทต่อปี

“แผนยุทธศาสตร์น้ำได้ผ่านการอนุมัติของ ครม. เมื่อเดือน พ.ค. 2558 แต่งบประมาณไม่ได้เตรียมไว้เลย ต้องไปใช้งบของปี 2559 ดังนั้น แผนน้ำจริง ๆ ที่ใช้งบอย่างเต็มรูปแบบจึงเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งคนอาจจะมองว่า แผนน้ำของรัฐบาลปี 2559-2560 ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร แต่อยากเรียนให้ทราบว่า การจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาออกแบบ การทำประชาคมรับฟังความคิดเห็น ผ่านกระบวนการอีไอเอ (ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) โดยขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี”

 

[caption id="attachment_204801" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

 

ผลงาน 3 ปี ล้ำ 12 ปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเร่งด่วนในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2558-2559) ว่า อะไรที่ทำได้ให้เร่งทำก่อน จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการขนาดเล็กที่ไม่ต้องใช้การศึกษาหรือออกแบบมาก เช่น อ่างเก็บน้ำ หรือ ฝายขนาดเล็ก, ประตูน้ำ, แก้มลิง, สถานีสูบน้ำ และคลองส่งน้ำ เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขการขาดแคลนน้ำเฉพาะหน้าเนื่องจากภัยแล้ง เช่น ขุดเจาะบ่อบาดาล, ขุดลอกแก้มลิง หรือ ลำน้ำเพื่อเก็บน้ำ ส่วนด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น การสร้างประปาหมู่บ้านและประปาชุมชน ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สามารถทำได้มากกว่า 7,000 แห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมบ้างแล้ว เช่น คลองผันน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง งบประมาณ 620 ล้านบาท (ก่อสร้างปี 2559-2561) เป็นต้น

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดปัจจุบันในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2560) หากเทียบผลงานแล้ว ถือว่าเทียบเท่ากับรัฐบาลชุดก่อน ๆ ทำมา 12 ปี ย้อนหลังไปจากปี 2557 โดยได้ดำเนินการแล้ว 2,186 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.59 ล้านไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,005 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 1,247 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 7.82 แสนไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 487 ล้าน ลบ.ม.

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

 

เตรียม 2 ปี ลงอีก 6.1 หมื่นล้าน

ส่วนแผนงานเร่งด่วนในปี 2561-2562 รัฐบาลจะเร่งทำโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง จำนวน 476 โครงการ งบประมาณ 6.11 หมื่นล้านบาท แยกเป็นปี 2561 จำนวน 44 โครงการ งบประมาณ 8,092 ล้านบาท (งบปกติ) และปรับแผนปี 2562 มาทำในปี 2561 จำนวน 304 โครงการ งบประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท (งบกลาง) ส่วนในปี 2562 มีจำนวน 128 โครงการ งบประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท (งบปกติ) โดยเป้าผลสัมฤทธิ์เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.01 ล้านไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุน 2,926 ล้าน ลบ.ม.

“ในปี 2561-2562 จะเริ่มเห็นการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ที่ได้ทำการศึกษาออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผ่านขบวนการรับฟังความเห็นแล้ว ได้ทยอยเกิดขึ้นทั้งโครงการเพื่อกักน้ำเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมด้วย เช่น โครงการผันน้ำอ้อมเมืองนครศรีธรรมราชที่มีน้ำท่วมทุกปี โครงการทำทางผันน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เดิมออกแบบไว้กว้าง 200 เมตร แต่เกรงจะเกิดผลกระทบประชาชนจึงลดความกว้างลงเหลือ 100 เมตร มีความยาว 24 กิโลเมตร เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและโครงการคลองผันน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังเขื่อนลำตะคอง (ระยะทาง 37.1 กม.)”

เพิ่มชลประทาน 8.7 ล้านไร่
สำหรับแผนยุทธศาสตร์น้ำ 12 ปี มีเป้าหมายสำคัญ อาทิ ประปาหมู่บ้าน 7,490 แห่ง และประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง ทำได้ครบทุกแห่งในปี 2564, เพิ่มน้ำต้นทุน 8,420 ล้าน ลบ.ม. (ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 4,800 ล้าน ลบ.ม.), ขยายพื้นที่ชลประทานอีก 8.70 ล้านไร่, ขุดขยายแม่น้ำสายหลัก ความยาวรวม 870 กม., ทำคันกั้นน้ำในพื้นที่สำคัญ 185 แห่ง, การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเป้าหมาย 4.77 ล้านไร่ และป้องกันการสูญเสียหน้าดินในพื้นที่การเกษตรลาดชัน เพื่อการชะลอน้ำในลุ่มน้ำเป้าหมาย 9.48 ล้านไร่


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7-9 ก.ย. 2560


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว