สินเชื่อบ้านแลกเงินปะทุ รีฟินน์ลงสนามชิงเค้ก ชูดอกเบี้ยตํ่า5-7%

07 ก.ย. 2560 | 23:00 น.
สินเชื่อบ้านแลกเงินระอุ รีฟินน์ดอทคอมขาใหญ่รีไฟแนนซ์ออนไลน์ผนึกธนาคารพันธมิตรลงสนามแข่งเต็มตัว ชูดอกเบี้ยตํ่าแค่ 5-7% ให้กู้สูงสุด 90% จับตลาดกู้ปิดหนี้อุปโภคบริโภค เผยยอดขอย้ายค่ายล่าสุดกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติแล้ว 1,300 ล้านบาท

ตลาดสินเชื่อบ้านแลกเงินเข้มข้นขึ้นมาทันที หลังจากบริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด แตกไลน์ธุรกิจจากรีไฟแนนซ์บ้านออนไลน์ มาแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้เล่นรายเดิม โดยชูกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยตํ่าและให้วงเงินกู้สูง

นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทมีวงเงินจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 2,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนสินเชื่อลดภาระหนี้ลูกค้า
สินเชื่อลดภาระหนี้ จะช่วยลูกค้าที่มีบ้านเป็นของตัวเอง ที่ปลอดภาระจำนอง แต่ต้องการลดภาระหนี้ประเภทอื่น โดยนำบ้านมาเป็นหลักประกันในการขอวงเงินอเนกประสงค์ไปใช้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตํ่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตที่อัตราดอกเบี้ย 20% หรือสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกดเงินสด ที่อัตราดอกเบี้ย 28% แต่หากลูกค้าเข้าโครงการสินเชื่อลดภาระหนี้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7%

นางสาวพรพิมล กล่าวอีกว่า ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2561 บริษัทมีแผนที่จะขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม นอกจากสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท รวมถึงสินเชื่อลดภาระหนี้ และสินเชื่อโฮมฟอร์แคชด้วย

[caption id="attachment_204720" align="aligncenter" width="429"] MP23-3294-2A กรณ์ จาติกวณิช ประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด[/caption]

นอกจากนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างวางแผนและทำระบบรองรับสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมือ 2 อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์นี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในระบบ จึงยังคงไม่ได้วางแผนเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท แต่บริษัทต้องการให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินของที่อยู่อาศัยให้ครบวงจรมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทภายหลังจากเปิดมา 8 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการประมาณ 4 แสนราย โดยมีผู้ที่ยื่นขอรีไฟแนนซ์ผ่าน www.refinn.com คิดเป็นวงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูงถึงกว่า 50% ของยอดวงเงินที่รีไฟแนนซ์แต่ละปีที่มียอดเฉลี่ย 6 หมื่นล้านบาท โดยมีสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้วราว 1,300 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยลูกค้าประหยัดอัตราดอกเบี้ยได้กว่า 1,320 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้า 600 ครัวเรือน

บริษัทประเมินว่า ตลาดรีไฟแนนซ์ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากตัวเลขมูลค่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนของมูลค่าตลาดรีไฟแนนซ์เพียง 10% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท หากบริษัทสามารถสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนตลาดรีไฟแนนซ์น่าจะเพิ่มขึ้นได้ โดยภายในปีนี้น่าจะเห็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยเป้าหมายรีไฟแนนซ์ทั้งปีของบริษัทอยู่ที่ 3,400 ล้านบาท คิดเป็นลูกค้าประมาณ 1.7 หมื่นราย เฉลี่ยวงเงินการกู้ประมาณ 2 ล้านบาท

MP24-3294-A อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,400 ล้านบาท บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมกับพันธมิตรทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) โดยปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรมีธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งที่มีส่วนแบ่งตลาด มากกว่า 50% ให้วงเงินสินเชื่อจำนวน 8,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัททำตลาดรีไฟแนนซ์โดยเฉพาะ และมีธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 1 แห่ง คาดว่าภายในสิ้นปีจะเห็นพันธมิตรเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของระบบที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท

ขณะเดียวกันบริษัทเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจ เช่น การนำข้อมูล Big Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์และประมวลผลของลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการปฏิเสธสินเชื่อ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความกังวลมากที่สุด

นายกรณ์ จาติกวณิช ประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด กล่าวเสริมว่า ภาพรวมการแข่งขันของตลาดรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์มีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับลูกค้าที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

อย่างไรก็ตามการแข่งขันในระบบจะมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของโมเดลธุรกิจ ขนาด และต้นทุนการเงิน เป็นต้น ซึ่งบริษัทจะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันของความหลากหลายดังกล่าวภายใต้ข้อเสนอที่โปร่งใสมากขึ้น และในอนาคตจะเห็นผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยสินเชื่อแบบ P2P หรือกลุ่มนอนแบงก์ที่ต้องการเข้ามาเล่นตลาดนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่เข้ามาได้ จะก่อให้เกิดการแข่งขันเต็มรูปแบบ

“เป้าหมายของบริษัท คือ ต้องการช่วยประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน และลดภาระ โดยเริ่มจากบ้าน เพราะบ้านเป็นหนี้ก้อนใหญ่และเป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนี้ครัวเรือน หากหนี้ส่วนหนี้ปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ โดยเราไม่คิดว่าธนาคารหรือแบงก์เป็นคู่แข่ง แต่จะเป็นพันธมิตรกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว