จี้31รัฐวิสาหกิจแจงจัดซื้อฯ

08 ก.ย. 2560 | 11:07 น.
กรมบัญชีกลางจี้ 31 รัฐวิสาหกิจ แจงระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หลังขอออกจากการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พ.ร.บ.ใหม่ ยืนยันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยังเดินหน้าไม่ชะงัก เหตุเปิดช่องยืดหยุ่น เพื่อการแข่งขันในตลาด

พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แม้จะมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560 แต่ก็ยังเกิดความสับสนและไม่เข้าใจในวิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ ที่เกรงว่า การเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ซึ่งเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอาจจะกระทบต่อแผนการดำเนินการได้ ทำให้มีรัฐวิสาหกิจถึง 31 แห่งขอออกจากการปฏิบัติภายใต้พ.ร.บ.ใหม่นี้

นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภายใต้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีข้อยกเว้นสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7(1) ทำให้มีรัฐวิสาหกิจถึง 31 แห่งขอออกจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พ.ร.บ.ใหม่ เช่น การบิน ไทย ปตท. ทีโอที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารรัฐต่างๆโดยไม่มีระเบียบรองรับว่า จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบอะไร

“เราเปิดทางให้กับรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและแข่งขันในตลาด แต่เมื่อออกไปแล้ว จะต้องมีระเบียบรอง รับว่า หากไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ใหม่ แล้วจะทำตามระเบียบอะไร เพราะบางเรื่องไม่จำเป็นต้องประกาศแผน สามารถไปจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงได้ อย่างปตท. ขอออกไปในเรื่องซื้อนํ้ามัน ซึ่งขณะนี้ที่แจ้งกลับมาแล้วว่า จะดำเนินการด้วยระเบียบอะไร มีปตท. การบิน ไทยและองค์การเภสัชกรรม” นางสาวชุณหจิต กล่าว

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นี้จะไม่ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐชะงัก เพราะมีบทเฉพาะกาลว่า ภายใน 180 วัน ในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ยังไม่ได้ออกประกาศ ตามมาตรา 7(1) ก็ให้ดำเนินการตามเดิมไปก่อนคือระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ก่อนจะมีประกาศของคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างออกมา

สำหรับข้อกังวลในเรื่องการจัดซื้อ ยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆนั้น สามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 6 กรณีที่รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ต้องการจัดให้มีระเบียบ ข้อบังคับ จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุขึ้นใช้เองทั้งหมดหรือบางส่วน ก็สามารถทำได้ แต่ต้องดำเนินการให้สอด คล้องกับหลักเกณฑ์ตามแนวทางของพ.ร.บ.ใหม่นี้ หรือโดยวิธีเฉพาะเจาะจงก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างก่อน

“จริงๆแล้ว เวลามีประเด็นเรื่องการคอร์รัปชัน มักบอกว่ามาจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เวลาที่เราเข้มงวดในเรื่องนี้กลับบอกว่าเป็นอุปสรรค ซึ่งเราอยู่ตรงกลาง ถ้าเข้มงวดไปก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าหลวมไปก็จะทำให้เปิดช่องคอร์รัปชันได้”

หลักการของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ จะเน้นการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มความโปร่งใส ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักการ 4 ประการ คือ คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นในเวทีโลกได้

พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ 3 วิธีคือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง จากเดิมที่จะมีตั้งแต่การตกลงราคาสอบราคา ประกวดราคา วิธีพิเศษ วิธีกรณีพิเศษ อี-มาร์เก็ตอี-บิดดิ้งโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเลือกราคาตํ่าสุดเสมอไป เนื่องจากพ.ร.บ.ฯให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าด้วย ดังนั้นหน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อจัดจ้างสามารถกำหนดเกณฑ์พิจารณาด้านคุณภาพควบคู่ไปกับราคาด้วยได้ เพื่อให้ได้สินค้า บริการ และงานก่อสร้างที่มีคุณภาพที่ดี และตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า บริษัทพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และได้ยื่นใช้สิทธิตามมาตรา 7(1) แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว