ปธ.สมาพันธ์เอสเอ็มอีขานรับ”ลิสโฮล” ชี้นโยบายดีแต่ต้องจูงใจแบงก์ปล่อยกู้

06 ก.ย. 2560 | 03:55 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ขานรับกฎหมายลิสโฮล เปิดช่องผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ชี้นโยบายดีแต่รัฐต้องมีมาตรการจูงใจแบงก์อยากปล่อยกู้ด้วย

นโยบายของกระทรวงการคลังในการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พรบ) ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ์ พ.ศ. ..หรือ ลีสโฮลด์ (leasehold) นอกจากเพื่อปลดล็อกสิทธิการเช่าที่อยู่อาศัย ให้เทียบเคียงกับสิทธิการเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรม วัตถุประสงค์หลักยังเพื่อเพิ่มหลักประกันทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุน โดยการนำสิทธิการเช่า (สูงสุด 30 ปี ) จากนำที่ดิน –อาคาร จดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิ์ มาเป็นหลักทรัพย์จำนองกู้กับธนาคารพาณิชย์

ร่างกฏหมายฉบับนี้ได้ผ่านประชาพิจารณ์เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่จะเสนอไปยังสภานิติบัญญัติ (สนช.) ผลักดันเป็นกฏหมายต่อไป

[caption id="attachment_204588" align="aligncenter" width="335"] ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ดร.ณพพงศ์ ธีระวร[/caption]

ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า แม้กฏหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างกลไกสภาพคล่องหลักประกันทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่รัฐเองก็ต้องมีมาตการจูงใจผลักดันให้ธนาคารปล่อยกู้ด้วย เพราะปกติหลักทรัพย์ประเภทนี้ ธนาคารจะให้ลูกหนี้ผ่อนสั้นกว่าสัญญาอยู่แล้วเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่นกรณีสัญญาเช่าสิทธิ์ 10 ปี แต่ลูกหนี้เกิดผิดนัดชำระปีที่ 8 สิทธิการเช่าที่เหลืออีก 2 ปี ธนาคารยึดสิทธิมาได้ก็จริงแต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปล่อยเช่า

“ในต่างจังหวัด หรือในเขตเศรษฐกิจ จะพบการเซ้งเช่าสิทธิเพื่อทำการค้ากันมาก หากมีกฎหมายฉบับนี้ สามารถนำสิทธิ์การเช่ามาเป็นหลักประกัน โดยแบงก์จะเข้ามาทำหน้าหน้าที่เป็นคนกลาง ผู้เช่าหรือเซ้งตึกแทนที่จะผ่อนกับเจ้าของตึก ก็ไปผ่อนกับแบงก์ และยังมีสภาพคล่องเหลือเป็นทุนหมุนเวียน ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน อย่างไรดีก็ต้องมีมาตรการทำให้แบงก์สบายใจอยากปล่อยกู้ win-win กับทุกฝ่าย เพราะนโยบายจะดีอย่างไร หากแบงก์ไม่ยอมปล่อยก็ไม่มีประโยชน์ “

ทั้งนี้บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย ) ประเมินว่าผลจากกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์ จะช่วยให้การพัฒนาบนที่ดินเช่ามีความน่าสนใจมากขึ้น และที่ดินเช่าหลายแปลงของหน่วยงานราชการ เช่น ที่ดินแปลงใหญ่ๆ ของกรมธนารักษ์ทั่วประเทศ ที่ดินแปลงใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในกรุงเทพมหานครทั้งมักกะสัน สถานีแม่น้ำ บางซื่อ ที่ดินของการเคหะแห่งชาติ หรือที่ดินที่ยังไม่ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนทั่วประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีความน่าสนใจในการพัฒนามากขึ้น เพราะสามารถเปลี่ยนมือหรือโอนสิทธิ์ในการพัฒนาต่อได้