กรมสุขภาพจิตปั้นผู้บริหารระดับกลางมืออาชีพ

05 ก.ย. 2560 | 12:16 น.
กรมสุขภาพจิต ปั้นผู้บริหารระดับกลางมืออาชีพ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ประชาชนสุขภาพจิตดี มีความสุข”

[caption id="attachment_204495" align="aligncenter" width="372"] นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์[/caption]

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้เน้นพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล  โดยเปิดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรในสังกัดระดับหัวหน้างาน ให้เป็นผู้บริหารระดับกลาง  ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการรับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกรมและกระทรวงสาธารณสุข นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ต่างๆบรรลุผลสำเร็จ    ซึ่งผู้บริหารระดับกลางนี้จะสวมหมวก 2 ใบ คือเป็นทั้งผู้นำหน่วยงานระดับกลางขานรับนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง เชื่อมต่อกับบุคลากรระดับปฏิบัติ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆตามแผนยุทธศาสตร์ของกรมเพื่อให้งานบรรลุตามวิสัยทัศน์ของกรมที่ตั้งไว้ภายในพ.ศ. 2564 คือประชาชนมีสุขภาพจิตดี  มีความสุข  อีกทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการของกรมสุขภาพจิต ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยรุ่นแรกนี้เริ่มจำนวน 35 คนใช้เวลาอบรม 1 เดือน ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และจะจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า   ในการบริหารและการพัฒนาระบบราชการให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  จะต้องมีการวางระบบการทำงานที่มีมาตรฐานและดำเนินการเป็นองคาพยพ  คือทุกหน่วยงาน และบุคลากรทุกคน ทุกระดับ ปฏิบัติงานเกื้อหนุนซึ่งกันและกันตามบทบาทหน้าที่  โดยยึดที่เป้าหมายเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องมีสมรรถนะในการบริหารจัดการโดยเฉพาะการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ   เนื่องจากแม้ว่าเราเขียนยุทธศาสตร์ไว้อย่างดีเลิศแล้วก็ตาม แต่หากขาดการนำไปปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดผลต่อประชาชนที่มีประสิทธิภาพ

“ ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับกลาง  ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี  3 เรื่อง  คือ 1.ต้องมีความรู้จริงในงานที่รับผิดชอบ มีจิตวิญญาณด้านสุขภาพจิต  การมีความรู้จะเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและมีผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานได้ตรงกับเป้าหมายองค์กร และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน  2. ต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ปฏิบัติงานใต้บังคับบัญชา  ไม่ใช้ระบบการทำงานแบบการสั่งหรือชี้นิ้ว  ซึ่งจะทำให้งานก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และประการที่ 3. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือให้ยึดหลักให้กำลังใจตัวเอง โดยเฉพาะการเป็นข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทำให้เกิดความสุข  ความภาคภูมิใจในการทำงาน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า งานของกรมสุขภาพจิต เกี่ยวข้องกับการรักษาส่งเสริมป้องกันสุขภาพของจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนเพื่อให้คนมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ  ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่คนบ้าหรือคนวิกลจริต แต่เป็นผู้เจ็บป่วยทางจิตใจที่ต้องดูแลรักษา เมื่อดูแลรักษาดีแล้วจะกลับมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี   ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12  พ.ศ. 2560-2564  กรมสุขภาพจิตได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข  4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย   2. พัฒนาคุณภาพระบบบริการและวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวช   3.สร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต และ 4. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล  โดยกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัดเมื่อสิ้นสุดแผนไว้  4 ตัวชี้วัด ได้แก่ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน    เด็กไทยมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 จุด   เด็กไทยร้อยละ 70 มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติขึ้นไป  และผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชที่สำคัญ เช่นจิตเภท โรคซึมเศร้า  โรคออทิสติก เข้าถึงบริการสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20