วอลโว่ วี90 สเตชันแวกอน ยังไม่ตาย

09 ก.ย. 2560 | 14:18 น.
“วอลโว่” ค่ายรถยนต์ที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนกับรถแบบสเตชันแวกอนมานาน ซึ่งหลายคนเมื่อคิดถึงรถประเภทนี้ ภาพในหัวคงมีแบรนด์จากสวีเดนโผล่มาอยู่ในลำดับต้นๆ

โดยความน่าตื่นตาตื่นใจ(ส่วนตัวของผู้เขียน) เริ่มจากเห็นการนำร่องปฏิวัติเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อน รวมถึงโครงสร้าง-แพลตฟอร์มใหม่ และการออกแบบที่ดูทันสมัยของรถในตระกูล 90 ที่ประเดิมด้วยเอสยูวี “เอ็กซ์ซี90” (ปี 2557)ตามด้วย ซีดาน “เอส90” (ปี 2558) จึงเฝ้ารอว่า “วี90” รถแบบสเตชันแวกอนที่วอลโว่ถนัดจะทำได้สมส่วนลงตัวขนาดไหน (จริงๆด้านหน้าและการตกแต่งภายในก็คล้ายๆกันหมด)

MP33-3294-5 สุดท้ายก็ไม่ผิดหวังครับ เมื่อ วี90 มาพร้อมการออกแบบที่สง่างาม เส้นสายด้านข้างมีพลังความเคลื่อน ไหว พร้อมตัวรถยาวเกือบ 5 เมตรแต่ดูประณีตประดิด ประดอยไปทุกสัดส่วน เรียกว่ายังแฝงความขลังของวอลโว่ที่เนื้อในแน่นเนียนคงคุณภาพในการเป็นรถยนต์ระดับสูง (เกินราคา)

ภายในห้องโดยสารโปร่งสะอาด (ผมได้รถตัวถังสีดำภายในจึงเป็นสีเบจ) โดยรุ่นที่ทำตลาดในเมืองไทยเป็นเกรด “อินสคริปชัน” (Inscription) สวยงามด้วยหน้าจอแสดงผลการขับขี่แบบดิจิตอล(หลังพวงมาลัย)ขนาด 12.3 นิ้ว ชัดเจนแม้ขับช่วงเวลากลางวันแดดจ้า เช่นเดียวกับหน้าจอควบคุมฟังก์ชันต่างๆของรถขนาด 9 นิ้ว ฝังตรงกลางแดชบอร์ดเป็นแบบสัมผัสใช้งานง่าย ตอบสนองการรูดปรื๊ดฉับไว

MP33-3294-6 ในเกรดอินสคริปชัน ยังมากับออพชันพิเศษอย่างหลังคาซันรูฟ และชุดเครื่องเสียงหูเทพ Bower & Wilkins พร้อมลำโพง 19 ตัว แยกซับวูฟเฟอร์ออกมาอีกตัว ใช้ชีวิตอยู่ในรถเปิดเพลงฟัง อารมณ์เหมือนนั่งเพลินๆอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้านครับ

ภายในห้องโดยสารเก็บเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี ตำแหน่งนั่งในการควบคุมพวงมาลัย และฟังก์ชันต่างๆสะดวก วิ่งทางไกลเกิน 200 กิโลเมตรยังสบายเนื้อตัว ไม่ต้องเพ่งเคร่งเครียด

ทั้งนี้ระบบความปลอดภัยเด่นๆ เช่น เทคโนโลยีการขับขี่กึ่งอัตโนมัติ Pilot Assist และระบบ City Safety ที่จะประสานการทำงานของเบรกอัตโนมัติกับระบบป้องกันการชนเพื่อให้ครอบคลุมอุบัติเหตุหลากสถานการณ์ โดยเวอร์ชันใหม่เพิ่มระบบการตรวจจับสัตว์ใหญ่ และระบบป้องกันรถตกถนน มาให้ด้วย

MP33-3294-1 นั่นเป็นจุดเด่นเรื่อง ออพชันและความปลอดภัยอัจฉริยะแบบไฟฟ้าครับ ในส่วนของโครงสร้างอย่างที่รู้กันว่ารถในตระกูล 90 ใช้พื้นฐานการพัฒนามาจาก “สปา แพลตฟอร์ม” (Scalable Product Architecture -SPA) ที่ปรับใช้ให้ยืดหยุ่นกับรถหลายตัวถังและระบบขับเคลื่อน แต่อีกหนึ่งประเด็นที่ช่วยให้รถขับดีขึ้นแน่ๆคือ การใช้แพลตฟอร์มนี้พร้อมกับบล็อกเครื่องยนต์ขนาดกะทัดรัด ทำให้ช่วงล่างด้านหน้าของรถยนต์ขนาดกลางของวอลโว่ เปลี่ยนมาใช้แบบปีกนก 2 ชั้นแทนแมกเฟอร์สันสตรัต แบบเดิมได้

MP33-3294-3 เดิมวอลโว่ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมกเฟอร์สันสตรัต เพื่อไม่ให้เปลืองพื้นที่ซุ้มล้อหน้า แต่พอใช้โครงสร้างใหม่ก็มีที่ว่างมากพอ จึงเลือกแบบปีกนก 2 ชั้นเพื่อประสิทธิภาพการทรงตัวที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันวิศวกรยังใช้อะลูมิเนียมนํ้าหนักเบามาเป็นชิ้นส่วน พร้อมออกแบบสัดส่วน องศาให้ลงตัว ผลพลอยได้คือ ลดอาการหน้าดื้อ ท้ายปัด และลดแรงดึงที่เกิดจากการเร่งเครื่องขณะเลี้ยวโค้งได้

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับ กับการที่วอลโว่เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าต่างจากคู่แข่งจากเยอรมนี ดังนั้นในรุ่นก่อนๆ สมรรถนะการขับขี่อาจจะไม่ใช่จุดเด่น แต่สำหรับตระกูล 90 ที่พัฒนาใหม่ สมรรถนะการขับดูดีขึ้นมาก

MP33-3294-4 ขณะที่เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 4 สูบ 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ในระดับD4 ที่ขายในเมืองไทย ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด ตอบสนองการขับขี่นุ่มเนียน

ขับรวมๆเสียงเครื่องยนต์ไม่ดังแต่พลังแรงพอตัว ช่วงรอบ 2,000-3,000 สัมผัสถึงแรงดึงแรงฉุด ช่วยขับเคลื่อนรถไปข้างหน้าอย่างนุ่มนวลต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ขับยังเลือกโหมดการขับขี่ได้ 4 แบบคือ “คอมฟอร์ด” (ค่าเริ่มต้นหลังสตาร์ตรถ) “อีโค” เพื่อความประหยัด และ“ไดนามิก” อัตราเร่งเร้าใจมากขึ้น รวมถึง“อินดิวิดวล” ปรับตั้งค่าตามใจคนขับ
วอลโว่เคลม อัตราบริโภคนํ้ามันเฉลี่ยไว้ 19.6 กม./ลิตร ผมขับในภาวะรถติด(ไม่หนัก)ในเมืองและวิ่งทางไกลใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม. เห็นหน้าจอแสดง 6.0-6.9 ลิตร/100 กม. หรือ 14.4-16 กม./ลิตร

MP33-3294-2 รวบรัดตัดความ...วอลโว่ วี90 เครื่องยนต์ดีเซล ความแรงระดับ D4 ขับดีพลังสมเนื้อสมตัว โดดเด่นด้วยความอเนกประสงค์ ไม่หวงระบบความปลอดภัย เพราะห่วงลูกค้ามากกว่า แต่ข้อจำกัดเดียวคือเป็นรุ่นนำเข้าทั้งคันจากสวีเดน ราคา 4.19 ล้านบาท (เมอร์เซเดส-เบนซ์ E220d เอสเตท ราคา 4.74 ล้านบาท) และอาจจะไม่มีเวอร์ชันประกอบมาเลเซียเหมือนตระกูล 90 รุ่นอื่นๆ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560