นิสสันจัดแถวโปรดักต์ โน๊ต อี-พาวเวอร์มาแน่-เทียน่าส่อแววเลิกขาย

09 ก.ย. 2560 | 11:59 น.
“นิสสัน” ในยุคประธานปะฉะดะ “อันตวน บาร์เตส” เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ทั้งเครือข่ายผู้จำหน่าย และปรับไลน์อัพโปรดักต์ โดยเน้นอีโคคาร์และปิกอัพ พร้อมลุย “โน๊ต อี-พาวเวอร์” ตามนโยบายรัฐบาล แต่อาจจะเลิกขาย “เทียน่า”

ถือเป็นค่ายรถยนต์ที่มียอดขายอันดับต้นๆของโลก และเป็นอันดับ 2 ในญี่ปุ่น แต่ในเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ภายใต้ประธานชาวฝรั่งเศส “อันตวน บาร์เตส” ที่เข้ามารับเผือกร้อนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (แต่คำสั่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559) ซึ่งเจ้าตัวยอมรับเองว่าจะต้องเข้ามากู้สถานการณ์หลังจากยอดขายในช่วง 1-2 ปีหลังของ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ลดลงมาก

[caption id="attachment_204443" align="aligncenter" width="335"] อันตวน บาร์เตส อันตวน บาร์เตส[/caption]

ขณะเดียวกันในส่วนของดีลเลอร์นิสสัน ที่ไม่พอใจกับการปรับโครงสร้างหรือแบ่งเขตการขายใหม่ ยังรวมตัวพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านหน่วยงานรัฐบาล ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากในตลาดรถยนต์เมืองไทย ซึ่งนิสสันต้องเร่งทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน

“ผมไม่ได้รับรายงาน เรื่องการรวมตัวประท้วงของ ดีลเลอร์ แต่เรากำลังทำงานร่วมกับดีลเลอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจากนี้ไปพวกเขาจะทำผลประกอบการได้ดี นั่นเพราะนิสสันต้องการเติบโตในประเทศไทยต่อไป จึงต้องมีเครือข่ายการขายที่เข้มแข็ง” นายบาร์เตส กล่าวและว่า

ปัจจุบันนิสสันมีโชว์รูม-ศูนย์บริการกว่า 200 แห่ง จากดีลเลอร์ประมาณ 120 ราย ซึ่งจำนวนหลังการปรับโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเท่าการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและผลประกอบการให้กลับมาอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็น
“แน่นอนว่าเราจะทำงานกับดีลเลอร์ที่พร้อมจะเติบโตไปกับเรา โดยนิสสันกำลังมุ่งสู่กลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1.เพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ทำตลาดในไทย 2.การทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้จำหน่ายรถยนต์นิสสันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน และการลงทุนให้สามารถนำเสนอการบริการที่มีคุณภาพและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า 3.การใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของนิสสันในประเทศไทยรวมถึงศูนย์พัฒนาและวิจัยยานยนต์ของนิสสัน เพื่อนำเสนอรถยนต์รุ่นพิเศษ และรุ่นเฉพาะที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศ” นายบาร์เตส กล่าว

ในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าตามนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล ยังถือว่าเข้าทางนิสสันเพราะมีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่คำถามว่าจะมาเมื่อไหร่และโมเดลไหน

นายบาร์เตส กล่าวว่า นิสสันเป็นผู้นำในรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) และ อี-พาวเวอร์ ซึ่งการที่จะทำให้รถประเภทนี้เกิดขึ้นได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนแต้มต่อหรือสิทธิประโยชน์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของภาษีเพียงอย่างเดียว เหนืออื่นใดการจะตั้งฐานการผลิตในไทย ยังต้องสรรหาชิ้นส่วนภายในประเทศที่เป็นประเด็นสำคัญในการผลักดันรถพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นได้

“นิสสันต้องการทำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(หมายรวมถึงเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์) ให้ราคาเข้าถึงได้ง่าย ลูกค้าชาวไทยต้องมีโอกาสซื้อซึ่งเรากำลังพูดคุยกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแนะนำรถเข้าสู่ตลาดในระยะเวลาที่กำหนด โดยเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ จริงๆก็เหมือนลูกครึ่ง แต่ด้วยการทำงานและสมรรถนะเหมือนรถอีวี เราหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้ โน๊ต อี-พาวเวอร์ถูกนับรวมเข้าไปที่กลุ่มอีวีเช่นกัน”

สอดคล้องกับความเห็นของแหล่งข่าวในอุตสาห กรรมยานยนต์ เชื่อว่านิสสัน จะทำตลาด โน๊ต อี-พาวเวอร์ แน่นอน และหวังจะถูกจัดในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กปั่นไฟ ให้แบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนรถ) แต่ด้วยการที่รถยังปล่อยมลพิษและมีเครื่องยนต์อาจจะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราตํ่าสุดของรถยนต์ไฮบริดคือ 5% (ถ้าไฟฟ้าล้วนเสีย 2%)

สำหรับยอดขายนิสสันไตรมาสแรกของปีงบ ประมาณ 2560 (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2560) ทำได้ 13,815 คัน เติบโต 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งเป็นกลุ่มอีโคคาร์ (มาร์ช อัลเมรา โน๊ต ) 7,984 คัน, ปิกอัพ นาวารา 4,562 คัน, เอ็กซ์-เทรล 497 คัน และอื่นๆ 772 คัน โดยหวังยอดขายรวมในปีนี้ประมาณไว้ 57,600 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 7% ขณะเดียวกันประธานนิสสันยังตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นตัวเลข 2 หลักให้ได้

จากยอดขายจะเห็นว่า กลุ่มอีโคคาร์มีสัดส่วนกว่า 50% จากยอดขายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง (ดี เซ็กเมนต์) อย่างเทียน่า ยอดขายแทบจะไม่กระเตื้องหรือ ผ่านไป 6 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ขายได้ 206 คัน หรือ 30-40 คันต่อเดือน จึงมีคำถามว่า นิสสันจะผลิตและขายเทียน่าต่อหรือไม่ ซึ่งอันตวน บาร์เตส กล่าวว่า
“จากนี้ไปเราจะมุ่งไปที่โปรดักต์ที่มีความแข็ง แกร่ง และมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด เช่น อีโคคาร์ และปิกอัพ”

แม้ไม่ตอบชัดเจน แต่ดูจากสถานการณ์แล้ว นิสสัน เทียน่า ไม่น่าจะได้ไปต่อในตลาดเมืองไทยซึ่งสอดคล้องกับ นิสสันออสเตรเลีย ที่นำเข้ารถยนต์รุ่นนี้จากเมืองไทย เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะเลิกขาย เทียน่า เช่นกัน
จับตาการปรับโครง สร้างทางธุรกิจของนิสสัน ที่คราวนี้ได้หมอใหญ่มาผ่าตัดแบบเปลี่ยนแปลงชีวิตเลยทีเดียว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560