กสอ.ชี้ 6 เดือนแรกไทยผลิตน้ำมันปาล์มแล้วเฉียด 1 ล้านตัน

05 ก.ย. 2560 | 11:05 น.
กสอ.ชี้ไทยผลิตน้ำมันปาล์ม 6 เดือนแรกเฉียดแล้ว 1 ล้านตัน เร่งดันผู้ประกอบการเข้าถึงกองทุนน้ำมันปาล์ม อัพดีกรีการผลิตสู้ตลาดต่างประเทศ

ภาพภายในโรงงานอุตสาหกรรม -5 ก.ย.60-กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภาคใต้ เป็นหนึ่ง ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยจากข้อมูลการผลิตพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 9.99 แสนตัน และคาดว่าในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในเรื่องข้อจำกัดด้านการแข่งขันและปัจจัยภูมิศาสตร์เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะที่ กสอ. เตรียมกลยุทธ์ในการส่งเสริมศักยภาพให้ SMEs ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 5 ข้อ ได้แก่

ระบบคัดแยกผลผาล์ม กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต กลยุทธ์เสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่ม  กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ และกลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 1,000 ล้านบาท และกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน 20,000 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม ภาคใต้นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีบทบาทต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ยางพารา อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการผลักดัน SMEs ในระดับท้องถิ่นให้มีศักยภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด (Local Economy) เพื่อขยายการเติบโตและผลักดันให้เกิดบทบาทในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

[caption id="attachment_204413" align="aligncenter" width="503"] ดร.พสุ โลหารชุน ดร.พสุ โลหารชุน[/caption]

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2560 – 2561 กสอ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์การผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่นให้มีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการพัฒนา SMEs ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด 3 ด้าน คือ 1. ด้านภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม 2. ด้านพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 3. ด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อต่อการผลิตและอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะช่วยตอบสนองและก่อให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นการผลักดันให้แต่ละอุตสาหกรรมมีการปรับบทบาทจากการ “เพิ่มมูลค่า” เป็นการ “สร้างมูลค่า” มากยิ่งขึ้น พร้อมกระจายความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคใต้ ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีส่วนสำคัญ ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยางพารา 2.อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 3.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 4.อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่รองรับกับการท่องเที่ยว และ 5.อุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากที่สุดภาคหนึ่ง เนื่องจากมีคุณภาพผลผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ดี สามารถตอบสนองการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และมีบทบาทเสมือนสารตั้งต้นให้กับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง ไบโอดีเซล ฯลฯ เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในด้านมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ดีที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีความใส ไม่เป็นไขและตกตะกอน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการแข่งขันจากประเทศผู้นำอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

สำหรับสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ ซึ่งในจังหวัดนี้มีการปลูกปาล์มยืนต้นถึง 1,087,500 ไร่ ปาล์มให้ผล 965,112 ไร่ มีผลผลิตทั้งปีอยู่ที่ 2,675,684 ตัน (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรภาคที่ 8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ) ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่ในการปลูกปาล์มทั้งประเทศยังพบอีกว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 4.7 ล้านไร่ เฉลี่ยพื้นที่เพิ่มขึ้นปีละ 5 %  ผลผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7% แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้เกิดจากกระบวนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยมาเลเซียและอินโดนีเซียได้เปรียบไทยในด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิต

ระบบผลิตไบโอแก๊ส นอกจากนี้ การผลิตปาล์มน้ำมันยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสูญเสียในแต่ละกระบวนการ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมั่นใจว่าปริมาณและคุณภาพของผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ผ่อนคลายลง พร้อมทั้งการปรับตัวในด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ พบว่าในเดือน ม.ค. – มิ.ย. 60 มีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 9.99 แสนตัน (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย) และภาพรวมรายปีคาดว่าผลผลิตปาล์มสดจะมีประมาณ 11.70 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.99 ล้านตัน เข้าสู่กระบวนการกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมาณ 1.01 ล้านตัน และเข้าสู่โรงผลิตไบโอดีเซลอีก 0.86 ล้านตัน (ที่มา : กองส่งเสริมสินค้าการเกษตร กรมการค้าภายใน)

ดร.พสุ กล่าวอีกว่า กสอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้เตรียมความพร้อมในการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

·กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการผลิต โดยเสริมสร้างรากฐานการผลิตของน้ำมันปาล์มไทยให้มีประสิทธิภาพ เช่น การลดต้นทุนการผลิตและลดการสูญเสีย การส่งเสริมคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ โดยจะอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและการนำองค์ความรู้การวิจัยเข้ามาช่วย พร้อมผลักดันการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากเดิมที่ 17% สู่ 20 – 22 %

·กลยุทธ์การเสริมแกร่งด้วยการรวมกลุ่ม โดยส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างอำนาจในทางตลาดและการร่วมมือกันพัฒนาให้มีทิศทางเดียวกันในลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือพี่ช่วยน้องซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้

·กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยต้องส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องห่วงโซ่มูลค่าพร้อมพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มเพื่อผลักดันสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ อาหารแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรม S-Curve เช่น โอลิโอเคมิคอลที่ใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มการแพทย์ เวชสำอาง ตลอดจนการต่อยอดสู่สินค้าใหม่เฉพาะกลุ่ม อาทิ PCM หรือแผ่นกันความร้อนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารในประเทศเขตหนาว เป็นต้น

·กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ กลยุทธ์นี้มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากที่สุด โดยจะต้องสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่ดูแลตั้งแต่ระบบต้นน้ำ – ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในการส่งเสริม ทั้งนี้ การปฏิบัติตามกระบวนการของมาตรฐาน RSPO  (Roundtable For Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยมีหลักการสำคัญ คือ การปฏิบัติตามกฎเพื่อความโปร่งใส การเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุดทั้งผู้ปลูกและผู้ผลิต ความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสวนปาล์มและโรงสกัดให้เกิดอย่างต่อเนื่อง

·กลยุทธ์การส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยส่งเสริมระบบต่าง ๆ ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ คุณภาพที่สม่ำเสมอมากขึ้น อาทิ ระบบควบคุมตรวจสอบ ระบบคัดแยก ระบบวิเคราะห์การผลิต เป็นต้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในการสนับสนุนด้วยกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในวงเงิน 1,000 ล้านบาท  ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับทั้งการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด การแปรรูปของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม รวมทั้งกองทุน เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำทุนไปปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพครบทุกมิติ ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ยังได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนมาตรการการผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละท้องถิ่นและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความต้องการและศักยภาพของจังหวัด โดยได้เข้าเยี่ยมชมตัวอย่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มตัวอย่างที่นำทั้งเรื่องระบบการผลิตอัตโนมัติเพื่อลดการสูญเสียอย่างครบวงจร การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อร่วมกันพัฒนา การลดกำลังคนเพียง 8 คน/ 1 กะทำงาน ตลอดจนการนำของเสียมาใช้ในการผลิตไบโอแก๊ส และการพัฒนาสถานประกอบการเพื่อการอยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างยั่งยืน ณ บริษัท ป.พานิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จำกัด อ.เมือง จ.กระบี่ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว