เจ้าของที่ดินขอเว้นภาษี โวยโดนกฏเหล็ก! ห้ามความเจริญตัดผ่าน

05 ก.ย. 2560 | 13:32 น.
เจ้าของบ้านอยู่อาศัยดั้งเดิม-ที่ดินเกษตร ที่ความเจริญ ห้าง-รถไฟฟ้า วิ่งเข้ามาหา ดันราคาที่ดินพุ่งส่อถูกรีดภาษีที่ดินตามมูลค่าราคาประเมินสูงหลายเท่าตัว “อิสระ บุญยัง” จี้สศค.ขอผ่อนผัน ขณะที่ อธิป ขอยกเว้นที่ดินถูกแช่แข็งห้ามพัฒนา

ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มองว่าหากปล่อยผ่านให้มีผลบังคับใช้ จะยิ่งซํ้าเดิมกับเจ้าของที่ดินอย่างไม่รู้ตัว ต่อเรื่องนี้ นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอมรับว่า ยังมีหลายประเด็นที่ ต้องเสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทบทวน อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยดั้งเดิม พื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินเกษตรกรรมที่วันดีคืนดีมีความเจริญผ่านเข้าพื้นที่ อย่างโครงการบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้าพัฒนาติดกับแปลงที่ดินเกษตร หรือบ้านพัก มีรถไฟฟ้าผ่านบริเวณหน้าบ้าน ร้านค้าเป็นต้น

กรณีดังกล่าวเป็นตัวฉุดให้มูลค่าที่ดินของชาวบ้านที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขยับตามไปด้วย จากเดิมเป็นสวน
ผักธรรมดาจากราคาที่ซื้อมา ไร่ละ 3-4 แสนบาท เมื่อห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าเข้ามามูลค่าเพิ่มเป็นไร่ละ 4 ล้านบาท ทำให้มีภาระเพิ่มทั้งที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้น

ดังนั้นสศค.ควรเรียกเก็บให้ตํ่ากว่าราคาใหม่ที่เพิ่มขึ้นหรือเรียกเก็บราคาเก่าที่เคยซื้อมาตามที่ ศ.พิเศษกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่จำกัด เสนอไว้ และหากมีการขายเปลี่ยนมือ จึงเรียกเก็บในอัตราที่เต็มจำนวน

[caption id="attachment_204368" align="aligncenter" width="503"] อิสระ บุญยัง อิสระ บุญยัง[/caption]

นอกจากนี้ที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าออก กับแปลงที่ดินแปลงไม่ได้สัดส่วนพอที่จะพัฒนา ทำได้เพียงปลูกต้นไม้ หรือทิ้งว่างเปล่าแต่ผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเอื้อต่อการพัฒนาได้สูง เป็นพื้นที่สีแดงหรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรมประเด็นนี้ควรผ่อนผันเพราะเจ้าของที่ดินไม่มีเจตนาปล่อยเป็นที่รกร้างหรือพัฒนาไม่สมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ขณะเดียวกันควรผ่อนผันชาวบ้านที่มีที่ดินหลายแปลงในเมืองแต่ไม่มีแผนพัฒนาให้สมประโยชน์เหมือนผู้ประกอบการ สามารถปล่อยทิ้งเป็นแปลงว่างเปล่าได้ โดยไม่อยู่ในข่ายที่ดินรกร้าง หากต้องการทำเป็นสวนปรับภูมิทัศน์เพื่อส่วนรวมก็สามารถยกเว้นได้ เพราะมองว่ากฎหมายบีบบังคับให้ที่ดินทุกแปลงต้องพัฒนาหากอยู่ในเมืองและต้องตรงกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและผังเมืองรวม จังหวัดอื่นๆ ซึ่งอนาคตอาจเกิดปัญหาตามมาได้

ส่วนบริการสาธารณะในโครงการบ้านจัดสรรอย่างคลับเฮาส์ สโมสร สระว่ายนํ้า มองว่า ควรยกเว้นเหมือนกับสาธารณูปโภครัฐเพราะหากเรียกเก็บภาษีประเภทพาณิชย์ เพดานสูงสุด 2% อนาคตทำให้นิติบุคคลบ้านจัดสรรไม่กล้ารับโอนมาดูแลอย่างแน่
นอน อีกทั้งกรณีคนที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดราคา 4-5 แสนบาท เมื่อทำงานในกรุงเทพฯต้องการมีคอนโดมิเนียมราคา 1.5 ล้านบาท แต่เขากลับต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ซึ่งอยู่ในข่ายบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมองว่าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ทราบว่ากรรมาธิการ อาจปรับลดการยกเว้นบ้านหลังแรก จาก 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี อาจจะเหลือตํ่ากว่า 10 ล้านหรือ 20 ล้านบาทซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาพื้นที่

ขณะที่ นายอธิป พีชานนท์ ประธานสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสริมว่าที่ดิน
ที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าและถูกรอนสิทธิ์เช่นที่ดินตาบอด ที่ดินที่อยู่ในเขตข้อกำหนดผังเมืองประเภทห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินที่มีลักษณะเป็นทางนํ้าหลากต้องรับภาระทางรับนํ้าทางธรรมชาติไหลผ่าน ควรได้รับยกเว้นภาษี สำหรับที่ดินเช่าเพื่อเกษตรกรรมมีปัญหาในการพิจารณาว่าอยู่ในข่ายเกษตรกรรมหรือพาณิชย์เพราะอัตราแตกต่างกันมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560