โมบายเพย์เมนต์จีนฮิตทั่วโลก จับมือพันธมิตรทุกภูมิภาคสร้างสังคมไร้เงินสด

09 ก.ย. 2560 | 07:30 น.
การปฏิวัติโลกดิจิตอลของจีนมีวิวัฒนาการมาอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลกแล้ว สะท้อนจากธุรกิจการชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือของผู้ประกอบการแดนมังกรที่เริ่มแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกมากขึ้นๆ ทุกที

คนเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปักกิ่งได้ทั้งวันโดยไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์เลยได้หรือไม่? เรื่องนี้มีผู้พิสูจน์แล้วว่า “ทำได้” ในเดือนเมษายน 2559 วิล ริพลีย์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ทดลองใช้ชีวิต 1 วันแบบไม่พกเงินสดในเมืองหลวงของประเทศจีน แล้วก็พบว่าเขาอยู่ได้สบายๆ แถมยังได้รับความสะดวกอีกด้วย เช่น ตอนไปซื้ออาหารเช้าที่ร้านริมถนน เขาเพียงแต่เปิดแอพพลิ เคชัน Wechat ในสมาร์ทโฟน จากนั้นก็เอาโทรศัพท์ไปสแกนสติกเกอร์รับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ติดอยู่บนกระจกร้าน ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นเขาก็แค่ใส่รหัสผ่าน 4 หลักยืนยันการชำระเงิน การซื้ออาหารเช้าก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี เขาไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตรเครดิตติดตัว มีเพียงแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว นอกจากซื้ออาหารเช้าแล้ว เขายังจ่ายค่าแท็กซี่ ค่ากาแฟ และอาหารกลางวันในภัตตาคารได้ด้วยวิธีเดียวกันนั้นแบบสบายอกสบายใจ

ในเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายเพย์เมนต์ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีการใช้งานในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศจีน ความนิยมที่ว่านี้เข้ามาแทนที่การใช้เงินสดและบัตรเครดิตอย่างสิ้นเชิง การชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ส่วนใหญ่กระทำผ่านแอพพลิเคชันอาลีเพย์ (Alipay) และวีแชต (Wechat) ผู้คนสามารถโอนและชำระเงินอย่างสะดวกสบายด้วยการเชื่อมโยงบัญชีส่วนตัวที่ทำไว้กับ 2 แอพพลิเคชันนี้เข้ากับบัญชีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่มีอยู่ จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 20 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีคิดเป็นมูลค่ารวม 20 ล้านล้านหยวน หรือ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559

อาลีเพย์ ซึ่งก่อตั้งในปี 2547 โดยอาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านระบบอี-คอมเมิร์ซของจีน เปิดเผยว่า 71% ของการชำระทางออนไลน์ผ่านระบบของอาลีเพย์นั้น เป็นการชำระผ่านสมาร์ท โฟน (ข้อมูลปี 2559) นอกจากนี้ ประมาณ 1 ใน 3 ของชาวต่างชาติในประเทศจีน เป็นผู้ที่เคยใช้บริการของอาลีเพย์มาแล้ว ไม่ผิดแปลกเลยที่จะกล่าวว่า การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมในวงกว้างและได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันในประเทศจีน นอกจากการซื้อสินค้าแล้ว ผู้ใช้แอพพลิเคชันยังสามารถชำระค่านํ้า ค่าไฟฟ้า ค่าปรับ(เมื่อทำผิดกฎจราจร) ค่าเช่ารถยนต์ รถจักรยาน รถเมล์โดยสาร หรือแม้กระทั่งใช้นัดเวลาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

แอพพลิเคชันเหล่านี้ยังแพร่ออกไปได้รับความนิยมและตอบสนองความต้องการใช้งานในต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกด้วย โดยในปี 2551 บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนของจีนเริ่มออกไปให้บริการเจาะตลาดต่างแดนเป็นครั้งแรก และปัจจุบันนี้ อาลีเพย์ได้จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 120,000 รายไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลอดภาษี สนามบิน ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก ฯลฯ ใน 27 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมเอเชีย ยุโรป อเมริกา รวมทั้งแถบอาร์กติก จุดเด่นที่สุดคือ บริการรับชำระเงินที่สะดวกสบายสำหรับชาวจีนไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม หากรู้ว่าสามารถชำระเงินผ่านบริการของอาลีเพย์ก็จะสร้างความตื่นเต้นยินดีและเรียกลูกค้าได้มาก

TP10-3294-A ริต้า หลิว ผู้จัดการใหญ่ของอาลีเพย์ประจำภาคพื้นอีเอ็มอีเอ (EMEA คือ ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อาลีเพย์ไม่เพียงให้ความสะดวกในการชำระเงิน แต่ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้แก่ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการเจาะตลาดลูกค้าชาวจีนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนไปถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หากพวกเขาเปิดใช้แอพพลิเคชันอาลีเพย์ก็จะได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับร้านค้าและผู้ให้บริการด้านต่างๆในกรุงลอนดอนพร้อมข้อเสนอพิเศษและส่วนลด หากลูกค้าแวะไปที่ร้านนั้นๆ “ข้อดีเหนืออื่นใดคือเรายอมได้กำไรน้อยเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยน(เงินตรา)ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้แอพพลิเคชันของเรา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 520 ล้านคน” หลิวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า คนจีนมีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับต้นๆที่ชาวจีนนิยมไปช็อปปิ้งนั้นได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

อินเดีย เป็นอีกตลาดใหญ่ที่แอนท์ ไฟแนนเชียล บริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป เข้าไปยึดหัวหาดบริการโมบายเพย์เมนต์ได้สำเร็จผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นคือ เพย์ทีเอ็ม (PayTM) 5 ปีที่แล้ว บริษัทมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชันไม่ถึง 30 ล้านคนในอินเดีย แต่ปัจจุบันยอดผู้ใช้เพย์ทีเอ็มพุ่งขึ้นไปถึง 220 ล้านคน กลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งรายใหญ่สุดในอินเดียและเป็นอันดับ 3 ของโลก ทุกวันนี้ผู้ใช้แอพเพย์ทีเอ็มสามารถจ่ายค่ารถ 3 ล้อเครื่อง จ่ายค่าตั๋วดูภาพยนตร์ หรือแม้แต่จ่ายเงินบริจาคตามวัดโดยใช้สมาร์ทโฟนกับคิวอาร์โค้ดเท่านั้น

กระแสคลื่นความนิยมในการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนกำลังแพร่กระจายไปในหลายๆประเทศพร้อมกับการเกิดขึ้นของบริษัทผู้ให้บริการโมบายเพย์เมนต์ เช่น แอสเซนด์มันนี่ (Ascend Money)ในประเทศไทย มินท์ (Mynt)ในฟิลิปปินส์ เอ็มเท็ค (Emtek)ในอินโดนีเซีย และคาเคา (Kakao)ในเกาหลีใต้ “นี่คือกระแสที่โลกไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่การปรับเปลี่ยนย่อมต้องใช้เวลา” ผู้บริหารของอาลีเพย์กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว