‘บรรจงจิตต์’โชว์ผลงานอื้อ 1ปีบนเก้าอี้อธิบดีกรมพัฒน์

09 ก.ย. 2560 | 12:16 น.
จากตำแหน่งรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และมารับตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ทำหน้าที่หลักในการดูแลผู้ประ
กอบการเอสเอ็มอีทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการจดทะเบียนการค้าให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ล่าสุด “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” จะขยับไปรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงภารกิจที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมถึงงานที่จะส่งไม้ต่อให้อธิบดีคนใหม่

**1 ปีปรับทำงานเชิงรุก
“บรรจงจิตต์” กล่าวว่า จากที่กำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาเกือบ 1 ปีเต็ม งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือการปรับรูปแบบการทำงานแบบผู้วางกฎระเบียบ หรือ Regulater มาเป็นเน้นลงมือปฏิบัติจริงหรือ Operator มากขึ้น และพยายามผลักดันธุรกิจให้มีการพัฒนาและเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทางธุรกิจและการดูแลผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการวัดความเชื่อมั่นในสายตาของนักธุรกิจนานาชาติ และในการพยายามลดขั้นตอนการจดทะเบียนจาก 25 วันเหลือ 2 วัน รวมถึงการสร้าง Platform การให้บริการภาครัฐในการต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมบริการของประเทศ ซึ่งได้มีการเปิดให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์(E-Registration)เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 มีผู้สมัครลงทะเบียนแล้ว 16,600 ราย โดยได้รับการอนุมัติและเข้าไปยืนยันการใช้ระบบ (Activated) จำนวน 7,948 ราย มีผู้ยื่นจดทะเบียน 2,048 ราย ซึ่งรับจดทะเบียนแล้ว 1,614 ราย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

[caption id="attachment_204042" align="aligncenter" width="309"] บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์[/caption]

**พัฒนาระบบ Taxonomy
นอกจากนี้กรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรหัสรายการทางบัญชี (Taxonomy) เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับงบการเงินของไทย (e-Filing Single Point) และรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลกับ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการรับงบการเงิน เช่น กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้สามารถนำข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์ได้แบบ Real Time และลดการ Re-Key ทำให้ธุรกิจได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายให้นิติบุคคลยื่นงบการเงินผ่านระบบ e-Filing ช่องทางเดียว 100% โดยได้จัดเตรียมความพร้อมและสนับสนุนมาตรการจูงใจต่างๆ เนื่องจากเป็นการปรับรูปแบบการให้บริการนำส่งงบการเงินจากเดิมโดยสิ้นเชิง เพื่อให้นิติบุคคลยอมรับการเปลี่ยนแปลงและให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้มีผู้เข้าอบรมการใช้งาน e-Filing ในปี 2558-2560 จำนวนกว่า 10,000 ราย

**หนุนสร้างนวัตกรรม
งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเน้นการบริหารจัดการสมัยใหม่ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ และปรับความคิด เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจ โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด โดยในงบปี 2560 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งสิ้น 1,899 ราย

“การพัฒนาศักยภาพธุรกิจบริการไทยสู่มาตรฐานสากลกรมจะเน้นกลุ่มธุรกิจบริการภายใต้กรอบความตกลงการค้าบริการอาเซียน (AFAS) เช่น ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สปา นวดเพื่อสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุ, ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว, ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน, ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม ผู้ให้บริการโลจิส
ติกส์ และสำนักงานบัญชี ซึ่งที่ผ่านมามีธุรกิจบริการเป้าหมายได้รับการพัฒนาและผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากล รวม 2,201 ราย และมีธุรกิจบริการในระบบแฟรนไชส์ที่สามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จํานวน 29 ราย ใน 32 ประเทศ”

**เดินหน้าปรับปรุงกฎหมาย
ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพ ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ใน 4 ประเด็นคือ หุ้นกู้แปลงสภาพ, การทยอยให้หุ้น (Vesting), สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP) และ หุ้นบุริมสิทธิ โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนไปแล้วรวม 4 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี

**พัฒนาสินค้าชุมชนสู่ B2C
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการจำหน่ายที่หลากหลาย กรมได้พัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์และพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยจัดกิจกรรม Event Marketing เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์และการจัดทำบรรจุภัณฑ์สำหรับการค้าออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ จำนวน 1,800 ราย เบื้องต้นนำร่องในพื้น 8 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ,อุบลราชธานี,ยโสธร,หนองคาย,อุดรธานี,ชัยนาท,บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ จำนวน 281 ราย และพัฒนาส่งเสริมสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ในภาคตะวันออก จำนวน 38 ราย

**มั่นใจอธิบดีใหม่สานต่อ
“มั่นใจว่าอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคนใหม่คือ นางกุลณี อิศดิศัย จะสานงานต่อได้อย่างไม่สะดุดเพราะท่านเองเคยอยู่กรมพัฒน์มาก่อนและรู้ระบบงานเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยงานที่อยากฝากถึงอธิบดีใหม่คืองานด้านบริการซึ่งคิดว่าท่านจะสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่า ก็มั่นใจในตัวท่าน 100%”

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ในปี 2560 คาดจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นราย จากปีที่แล้วอยู่ที่กว่า 6 หมื่นราย โดยธุรกิจดาวเด่นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและร้านอาหารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวกำลังมาแรง และในปีหน้าถ้ากฎหมายนิติบุคคลเดียวสามารถจดทะเบียนตั้งบริษัทได้ประกาศใช้น่าจะทำให้ยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น โดย
คาดว่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะนำโด่งเพราะจดทะเบียนง่าย หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์ตอัพ และธุรกิจที่เกี่ยวกับให้คำปรึกษาจะเห็นชัดในปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว