เศรษฐศาสตร์กับการเลี้ยงดูพ่อแม่สูงวัย

06 ก.ย. 2560 | 09:44 น.
TP07-3294-ab ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การทำความเข้าใจถึงที่มาของรายได้ของผู้สูงอายุในวัยหลังเกษียณ นับว่ามีความสำคัญ เพราะจะทำให้รัฐสามารถใช้เป็นกลไกขยายรายได้ให้กับผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด

โดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะมีรายได้มาจาก 3 แหล่งหลัก ได้แก่ รายได้จากทรัพย์สินเงินออม หรือเงินบำนาญ ที่ตัวผู้สูงอายุเองสะสมมาตั้งแต่สมัยวัยทำงาน รายได้จากระบบสวัสดิการของรัฐ และรายได้จากการถ่ายโอนระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะจากบุตรหลานวัยทำงานไปสู่พ่อแม่ที่สูงอายุ

จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของรายได้แต่ละแหล่งนั้น ในแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน ในประเทศไทยการพึ่งพาตนเองและการพึ่งพิงรัฐของผู้สูงอายุยังทำได้ไม่เต็มที่นัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกระตุ้นการเตรียมความพร้อมในวัยหลังเกษียณยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2554 พบว่ามีผู้สูงอายุในประเทศไม่ถึง 10% ที่มีเงินบํานาญและมีผู้สูงอายุเพียงประมาณ 36% ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินออมส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุที่รัฐจัดสรรให้ ทั้งในรูปแบบเบี้ยยังชีพ และสวัสดิการอื่นที่ช่วยลดต้นทุนการดำรงชีวิต เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นต้น ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับน้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในวัยหลังเกษียณ

แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในประเทศไทยจึงยังคงเป็นรายได้จากบุตรหลาน จากการสำรวจปี 2554 ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นพบว่าผู้สูงอายุที่มีบุตรหลานกว่า 80% ได้รับเงินจากบุตรหลานของตนเองและประมาณ 40% มองว่าเงินดังกล่าวนับว่าเป็นรายได้หลักในยามบั้นปลายชีวิต อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารายได้เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะลดลงจากอดีต เป็นเพราะผู้สูงอายุมีบุตรหลานน้อยลงและผู้สูงอายุบางคนก็ไม่ได้รับรายได้จากบุตรหลานของตน

สาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์ครอบครัว (Family Economics)” ศึกษาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวโดยมีข้อสมมติว่า คนในครอบครัวเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็มีลักษณะเหมือนกับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ครอบครัวได้อธิบายการตัดสินใจให้เงินพ่อแม่ของคนวัยทำงานไว้น่าจะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจ 2 ประการหลัก

TP07-3294-A ประการที่ 1 คือแรงจูงใจทางความเอื้อเฟื้อ (Altruistic Motive) ที่มองว่าลูกให้เงินพ่อแม่ เพราะต้องการให้พ่อแม่มีระดับการบริโภคที่ดีในวัยหลังเกษียณ ทั้งนี้เป็นเพราะความพอใจ (อรรถประโยชน์) ของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งของความพอใจของลูก (McGarry, 1999) แปลง่ายๆ คือ ถ้าเราเห็นคนที่เรารักกินดีอยู่ดี เราก็มีความสุขไปด้วย ทฤษฎี “แรงจูงใจทางความเอื้อเฟื้อ” ทำนายไว้ว่าทรัพย์สินของผู้สูงอายุกับการได้รับเงินจากบุตรหลานจะมีความสัมพันธ์แบบผกผันผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินน้อยจะได้รับเงินจากบุตรหลานมากส่วนผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินมากจะได้รับเงินจากบุตรหลานน้อย
ประการที่ 2 คือแรงจูงใจทางมรดก (Bequest Motive) ที่มองว่าลูกให้เงินพ่อแม่เพราะมีความคาดหวังที่จะได้รับมรดกหลังพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ตามทฤษฎีนี้การถ่ายทอดมรดก นับเป็นวิธีการของพ่อแม่ที่จะตอบแทนลูกที่ถ่ายโอนรายได้มาให้ยามที่ตนยังมีชีวิตอยู่ เสมือนหนึ่งพ่อแม่กำลัง “ซื้อ” การเลี้ยงดูจากลูกด้วยการให้เงินก้อนใหญ่ทีเดียวหลังเสียชีวิต (Bernheim et al., 1985)

ทฤษฎี “แรงจูงใจทางมรดก” ทำนายว่าทรัพย์สินของผู้สูงอายุกับการได้รับเงินจากบุตรหลาน จะมีความสัมพันธ์เชิงบวก ผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินมากก็จะได้รับเงินจากบุตรหลานมาก (เพราะสามารถทิ้งมรดกไว้ให้ได้) ส่วนผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินน้อยก็จะได้รับเงินจากบุตรหลานน้อยตามไปด้วย

ในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ครอบครัว การทดสอบประเภทของแรงจูงใจนับว่ามีความสำคัญ เพราะแรงจูงใจทั้งสองประการมีนัยต่อนโยบายแตกต่างกัน หากสังคมมี “แรงจูงใจทางความเอื้อเฟื้อ” เป็นหลัก การจัดสวัสดิการของรัฐที่ให้เงินผู้สูงอายุโดย ตรง (เช่น เบี้ยยังชีพ) ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้สูงขึ้น ความต้องการการเลี้ยงดูน้อยลง ทำให้บุตรหลานมีแรงจูงใจที่จะให้เงินแก่ผู้สูงอายุน้อยลงไปด้วย กล่าวคือจะเกิดการแทนที่การถ่ายโอนเงินจากบุตรหลานด้วยการถ่ายโอนเงินจากรัฐ (Crowding Out) ซึ่งหมายความว่า ในภาพรวมแล้วผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมใดๆ จาก สวัสดิการของรัฐ

ในขณะเดียวกันหากแรงจูงใจในการเลี้ยงดูพ่อแม่สูงวัยในสังคมเป็นแบบ “แรงจูงใจทางมรดก” ปรากฏการณ์การแทนนี่ข้างต้นก็จะไม่เกิดขึ้น รัฐให้สวัสดิการไปลูกหลานก็ยังคงให้เงินพ่อแม่ตนเองเหมือนเดิม

สำหรับประเทศไทยนั้น การศึกษาที่ทดสอบประเภทของแรงจูงใจยังมีค่อนข้างน้อย เพราะข้อมูลที่สามารถนำมาใช้วิจัยได้มีจำกัด งานวิจัยที่มีการทดสอบประเภทของแรงจูงใจ (ทางอ้อม) อยู่บ้าง คือ Witvorapong (2015) ที่พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินของผู้สูงอายุกับโอกาสในการได้รับเงินจากบุตรหลานในประเทศไทยนั้นสอดคล้องกับ “แรงจูงใจทางมรดก” มากกว่า “แรงจูงใจทางความเอื้อเฟื้อ”

เพราะพบว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินจากบุตรหลานมาก คือ ผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินมาก นัยต่อนโยบายของงานวิจัยนี้คือสวัสดิการของรัฐที่มีอยู่ก็ยังคงควรดำเนินการต่อไป (เพราะไม่น่าจะเกิดการแทนที่) แต่รัฐอาจต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินน้อยเพิ่มเติมด้วย เพราะผู้สูงอายุกลุ่มนี้อาจยังไม่ได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวมากเพียงพอ

ในอนาคต เนื่องจากการเลี้ยงดูจากบุตรหลานมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญลดลง การเตรียมความพร้อมในวัยหลังเกษียณ จึงจะมีความจำเป็นมากขึ้น คนในวัยทำงานทุกคนจึงควรเก็บออมตั้งแต่วันนี้ จะได้มีเงินใช้ในวันข้างหน้า
“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นี่ละครับ เป็นธรรมะที่จริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้สังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว