โรงเรียนในเคนยามุง ‘กระเบื้องโซลาร์’ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

09 ก.ย. 2560 | 00:09 น.
แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ดีที่สุดในหลายพื้นที่เขตชนบทหรือถิ่นทุรกันดารที่เครือข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางเข้าไปไม่ถึง หรือแม้จะเข้าไปถึงแต่เนื่องจากความห่างไกลอาจจะทำให้เกิดปัญหาไฟตกหรือไฟดับบ่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ การใช้แผงพลังแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกสำรองไว้ ก็สามารถช่วยให้การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้นและปลอดภัยขึ้น

M27-3284-1 ตัวอย่างเช่น กรณีของโรงเรียนมัธยมไกเธอรี ในเขตจังหวัดมูรัง ประเทศเคนยา ที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดย่อม มีนักเรียนรวม 275 คน ปัญหาที่เคยมีก่อนหน้านี้คือ ไฟดับบ่อยครั้ง อีกทั้งค่าไฟฟ้าที่โรงเรียนต้องจ่ายในแต่ละเดือนก็นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นทางโรงเรียนจึงขอความสนับสนุนจากมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ และบริษัทสเตราส์ เอนเนอร์จี จัดการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาโรงเรียนให้กลายเป็นกระเบื้องโซลาร์ หรือ solar roof tiles ซึ่งเป็นการอาศัยความเชี่ยวชาญของบริษัทสเตราส์ เอนเนอร์จี ผนวกแผงโซลาร์เซลล์เข้าไว้ในวัสดุก่อสร้างอย่างกระเบื้องมุงหลังคา ทำให้การมุงกระเบื้องเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกเก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้ในเวลาที่แสงแดดน้อยหรือเวลากลางคืน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ทางโรงเรียนประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้มาก และที่สำคัญคือระบบนี้ทำให้โรงเรียนมีปริมาณไฟฟ้าที่มากพอและสมํ่าเสมอ ทำให้สามารถเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กๆ (ผิดจากอดีตที่กระแสไฟตกและดับบ่อย ทำให้ไม่สามารถติดตั้งคอมพิวเตอร์) ปัจจุบัน นักเรียนจึงมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ในการเรียนการสอนจำนวน 18 เครื่อง

จากการสำรวจขององค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรเมื่อต้นปีนี้พบว่า ประชากรชาวเคนยาที่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวันผ่านทางเครือข่ายการจ่ายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการนั้น มีจำนวนเพียงราวๆ 57% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า แหล่งพลังงานทางเลือกสามารถแทรกเข้ามาถมช่องว่างนั้นได้อีกมาก ผู้บริหารของบริษัทสเตราส์ เอนเนอร์จีให้ความเห็นว่า เคนยามีแสงแดดจัด เหมาะสมกับการนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า กระเบื้องโซลาร์ปัจจุบันมีราคาระหว่าง 20-250 ดอลลาร์/แผ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด ดังนั้นหากนำมาติดตั้งกับบ้านเรือนทั่วไปก็อาจจะเป็นต้นทุนที่สูง จึงเหมาะจะนำมาติดตั้งกับอาคารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรืออาคารเชิงพาณิชย์มากกว่า บริษัทเองยังมีแผนวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตพร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของกระเบื้องโซลาร์ โดยโรงงานแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ในแผนการก่อสร้าง จะสามารถผลิตกระเบื้องดังกล่าวได้ถึงวันละ 10,000 แผ่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว