‘ประชารัฐรักสามัคคี’ สร้างนวัตกรรมปั้นคนพันธุ์ใหม่

08 ก.ย. 2560 | 23:06 น.
ได้ยินคำว่าประชารัฐกันมาเยอะ ครั้งนี้ไทยเบฟขอพูดถึงประชารัฐที่เป็นรูปธรรม ผ่านบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด โดย “ดร.เอกพล ณ สงขลา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ประชารัฐรักสามัคคีฯ คือ รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE ) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้โครงการ คณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ เป็น 1 ใน 13 โครงการ ที่รัฐบาลทำร่วมกับภาคเอกชน โดยมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

การพัฒนาชุมชนฐานราก ทำใน 3 เรื่อง คือ 1. เกษตรแปรรูป 2. การท่องเที่ยวในชุมชน และ 3. สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน... “ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน และรัฐบาลสนับสนุน” นวัตกรรมของประชารัฐรักสามัคคีฯ คือ การนำ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมกันทำงาน เพื่อลดข้อจำกัดที่แต่ละภาคส่วนมีอยู่ให้เดินหน้าไปได้

M26-3284-8 ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือ หลักการของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ แต่การที่เป้าหมายเหล่านั้นจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ประชารัฐรักสามัคคีฯ ต้องมีทีมงานเข้ามาสานต่อ นั่น จึงทำให้เกิดโครงการ “สานพลังเพื่อบ้านเกิด” โครงการที่สร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ นำพลังคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยสร้างคนเหล่านี้ ขึ้นมาเป็น “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” โดยประชารัฐรักสามัคคีฯ ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และการทำงานจริงในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างทักษะการบริหารธุรกิจชุมชนและ การพัฒนาชุมชนแบบ Area Based ด้วยการทำงานและการเรียนรู้ พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ระยะเวลา 2 ปี

คนรุ่นใหม่ที่คัดเข้ามา มีอายุ 20-30 ปี จบ ปวส. หรือปริญญาตรี สาขาอะไรก็ได้ แต่ต้องเกิดที่จังหวัดนั้นๆ หรืออยู่ที่จังหวัดนั้นๆ อย่างน้อย 10 ปี คนเหล่านี้ จะเข้ามาเรียนรู้การร่วมพัฒนาชุมชนภายในจังหวัดบ้านเกิด เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม เรียนรู้การพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำการพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ สัมผัสและมีโอกาสร่วมทำงานกับผู้บริหารระดับสูงที่สนับสนุนโครงการนี้ สร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ 76 คน 76 จังหวัด โดยมีรายได้รวมประมาณ 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน

โครงการสานฝันเพื่อบ้านเกิด ถือเป็นนวัตกรรมในการดึงพลังของคนรุ่นใหม่ออกมาสร้างคุณประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มีประชารัฐรักสามัคคีฯได้จัดตั้งเป็นบริษัทในแต่ละจังหวัดครบถ้วนแล้ว 76 จังหวัด คนรุ่นใหม่ที่ถูกสร้างจากส่วนกลางมีหน้าที่ลงไปทำงานร่วมกับคนในชุมชนโดยประสานงานร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนจังหวัดละ 4 ล้านบาท เป็นเงินทุนในการสร้างงานสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง

“โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยเบฟ และ บริษัทประชารัฐฯ โดยที่เราใช้ความเก่งและโอกาสของภาคเอกชน ไปสร้าง “นักพัฒนาธุรกิจชุมชน” เราประกาศหาคนรุ่นใหม่ ที่สนใจจะไปเป็นนักพัฒนาที่บ้านเกิดของตัวเอง จุดเด่น คือ เป็นการดึงพลังของน้องรุ่นใหม่ มาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง แต่ยังอยู่ในบริบทที่เขาเติบโตได้ และเขาสามารถลงมือทำ ในส่วนที่คนอื่นๆ อาจไม่มีโอกาส”

วิธีการคัดคนรุ่นใหม่ มีแกนหลักสำคัญใน 3 ส่วน คือ 1. มีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมาย (Purpose) ความชอบ (Passion) 2. ความสัมพันธ์ (Relationships) มีความสามารถในการร่วมงานกับคนอื่น และ 3. ทำให้เขาเติบโต (Growth )

M26-3284-7 คนที่คัดเลือกเข้ามา ไม่ได้เลือกจากความเก่ง แต่เลือกจากคนที่มีทัศนคติที่ดี มี Passion และมีเป้าหมาย (Purpose) หลังจากนั้นก็นำมาฝึกอบรม การทำงานร่วมกับชุมชน บริบทของชนบทไทยเป็นอย่างไร การพัฒนาชุมชน การทำงานด้านธุรกิจ การทำงานด้านการสื่อสาร ประสานงานได้ การทำงานร่วมกับชุมชนได้ รวมทั้งต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นักพัฒนาฯ จะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากห้องเรียน หลังจากนั้นก็ลงไปทำงานของจริง ไปดูงานประชารัฐรักสามัคคีที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ที่ดอยตุง และได้ลงมือทำจริงๆ เป็นโครงการกลุ่มสั้นๆ ก่อนไปลงเดี่ยวในจังหวัดของตัวเอง ซึ่งตอนนี้รุ่น 2 กำลังจะเริ่ม และจะเข้ามาทำงานร่วมกับรุ่น 1 สร้างงานในชุมชนให้แข็งแกร่งมากขึ้น

หลังจาก 2 ปี คนเหล่านี้สามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้ หรือคนที่มีความโดดเด่น ก็อาจจะมีบริษัทใหญ่ๆ ที่อยู่ในโครงการประชารัฐมาดึงตัวไปทำงาน รวมทั้งไทยเบฟฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 15 คนที่ performance ดี และไทยเบฟฯ ได้นำเสนอให้เข้ามาร่วมงานด้วย แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเองว่าสนใจจะเข้าร่วมงานกับไทยเบฟหรือไม่

สิ่งที่ฉายแววออกมา คือ เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีทัศนคติที่ทำงานกับชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ เขาสามารถแก้ปัญหาได้ ประสานงานได้ มีความรับผิดชอบ และมีทัศนคติที่ดีพร้อมเรียนรู้ คนเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อยอดศักยภาพให้เพิ่มขึ้นได้อีก และนั่นคือโอกาสในการเติบโตของพวกเขา ซึ่งแนวทางนี้ คือ สิ่งที่ไทยเบฟฯ นำมาพัฒนาใช้กับการคัดเลือกคนทำงานให้กับกลุ่มไทยเบฟเองด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว