นวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงาน

09 ก.ย. 2560 | 00:11 น.
จากการเยี่ยมชมนวัตกรรมและสิ่งปลูกสร้างด้านสิ่งแวดล้อมของมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป (MEC) ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) พบว่ามีหลายสิ่งที่น่าสนใจและประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทย “กรีน ไอเดีย” จึงหยิบยกสถานที่ ต่างๆ ที่เอพีได้พาไปเยี่ยมชมขึ้นมานำเสนอ

M26-3284-5 เริ่มจาก “3 x 3 Lab Future” หรือ ซังซังแล็บ กรุงโตเกียว ที่บริหารงานโดยสมาคมอีโคซีเรีย (Ecozzeria Association) แล็บที่ผสมผสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน คือ สังคม (Society) สิ่งแวดล้อม (Environment) และ เศรษฐกิจ (Economy) แล็บแห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ในการทดลองการดีไซน์พื้นที่สีเขียวภายในอาคารเพื่อโลกอนาคต ที่มีนวัตกรรมการดีไซน์และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร รวมทั้งระบบการจัดการควบคุมแสง และนํ้าภายในอาคาร นวัตกรรมประหยัดพลังงานที่สร้างให้เกิดความยั่งยืน ทำให้เกิดความเข้าใจ ต้นไม้ ธรรมชาติ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติมากขึ้น ทุกวันนี้ทุกตึกอยากได้กรีน แต่การบริหารจัดการให้อาคารเป็นกรีนนั่นคือสิ่งสำคัญ

วิสัยทัศน์ 2020 ของมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ได้กำหนดไว้ 4 ทิศทาง ได้แก่ 1. การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มิตซูบิชิ เป็นผู้บริหารจัดการ ดูแล ได้แก่ อีเทมัตจิ (Etemachi) มารุโนะยูชิ (Marunouchi) และยูระคูโจ (Yurakucho) หรือ OMY เมื่อมีนวัตกรรมอะไร มิตซูบิชิจะนำนวัตกรรมเหล่านั้น มาใช้กับพื้นที่ OMY ก่อน 2. การนำนวัตกรรม มาใช้กับที่อยู่อาศัย โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย มิตซูบิชิ ได้ตั้งบริษัท เมก เอโคไลฟ์ฯ มาทำหน้าที่ วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม 3. การนำพลังงานใหม่ๆ มาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด 4. เน้นยํ้าการพัฒนาการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต คนและธรรมชาติ

M26-3284-3 นอกจากนี้ มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ยังมีวิสัยทัศน์ระยะยาวถึงปี 2050 ใน 4 ด้าน คือ 1. การสร้างสังคมคาร์บอนตํ่า 2. การสร้างสังคมที่มีการนำวัสดุมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการ Reduce, Reuse และ Recycle 3. สร้างสังคมที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างดี และ 4. การสร้างความตระหนักรับรู้ถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ชุมชนเมืองที่ยั่งยืน สู่โลกที่ยั่งยืน”

ซังซังแล็บ คือ สถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นที่ทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดแสดงนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีการปล่อยนํ้าร้อนนํ้าเย็น ออกมารักษาอุณหภูมิห้อง โต๊ะ-เก้าอี้ ที่สามารถปรับความร้อน ความเย็น แสง กลิ่น และอุณหภูมิ ได้ตามความต้องการ รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดการบำบัด นํ้าเสียคลองโดยรอบพระราชวัง

M26-3284-2 เดอะพาร์คเฮ้าส์ คือ อีกหนึ่งสถานที่ของมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท เมกะ เอโคไลฟ์ฯ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร ด้วยระบบ โซเล็กโกะ ที่เป็นการใช้บริษัทกลางมาเป็นตัวแทนระหว่างโรงไฟฟ้าและคอนโดมิเนียม โดยรับไฟฟ้าแรงสูงมาเปลี่ยนเป็นแรงตํ่า แล้วส่งกระแสไฟไปในแต่ละยูนิตของคอนโดมิเนียม เป็นการช่วยประหยัดไฟ เพราะจะมีการนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้ในอาคาร ทำให้ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดพลังงานสะอาด ลดค่าไฟส่วนกลาง และลดต้นทุน เพราะเป็นการบริหารจัดการผ่านบริษัทกลาง

อีกหนึ่งตัวอย่างของอาคารประหยัดพลังงาน คือ บ้านตัวอย่างของมิตซูบิชิ บ้านทั้งหลังใช้ระบบการปรับอากาศรวม ที่เรียกว่า Aero Tech เป็นระบบการปรับอากาศรวม ที่ควบคุมอุณหภูมิในบ้านทั้งหลัง ทำให้อุณหภูมิทั้งบ้านไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเดินไปอยู่ตรงไหน ระบบ Aero Tech ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิและช่วยลดค่าไฟ แม้จะเปิดไฟตลอด 24 ชม. ควบคุมระบบและตรวจสอบการใช้งานผ่านระบบ HEMS(Home Environment Management System)ที่สามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลต และสามารถตรวจเช็กได้ว่าใช้ไฟฟ้าไปแล้วเท่าไร และจุดไหนที่ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป ช่วยในการบริหารจัดการค่าไฟภายในบ้านได้ตรงกับความต้องการของเรา

M26-3284-1 บ้านทั้งหลังสร้างด้วยไม้ ที่มีโครงสร้างแข็งแรงทนต่อแรงแผ่นดินไหว บ้านทั้งหลังเปิดเชื่อมต่อกัน ทำให้บ้านโปร่งสบาย และยังสามารถทำหน้าต่างบานให้ได้ ซึ่งต่างจากบ้านที่สร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวที่ต้องทำหน้าต่างบานเล็กๆ ภายในบ้านใช้หลอดไฟแอลอีดี ประหยัดพลังงาน บนหลังคาบ้านติดโซลาร์รูฟ พลังงานไฟฟ้าที่ได้จะนำมาใช้ในบ้าน และเก็บสะสมไว้ในยามฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว

“สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง” ผู้อำนวยการ สายงานคอร์ปอเรต มาร์เก็ตติ้ง และ AP Design Lab บริษัท เอพีฯ เล่าว่า เอพี ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ โดยผนวกพื้นที่สีเขียวเข้าไปในชีวิต สร้างฟังก์ชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน ทุกโปรเจ็กต์ของเอพีในปี 2560 มีการสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นพื้นที่สีเขียว
ขณะนี้ เอพี ยังได้ร่วมมือกับอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรม “ถังปุ๋ยธรรมชาติ” เป็นเครื่องที่สามารถย่อยสลายเศษอาหารให้กลับมาเป็นปุ๋ยใช้ประโยชน์ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยขณะนี้ได้สร้างเป็นโปรโตไทฟ์เรียบร้อยแล้ว และมีแนวคิดที่จะนำมาใช้ในโครงการของเอพีตามความเหมาะสม

M26-3284-10 สำหรับคนไทย การให้ความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการซื้อที่อยู่อาศัย ยังมีไม่มากนัก ขณะที่เทรนด์งานก่อสร้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมปัจจุบันที่มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. การก่อสร้างที่เลือกใช้วัสดุและออกแบบการก่อสร้างทุกอย่างเพื่อทำให้อาคารหลังนั้นประหยัดพลังงานที่สุด โดยมีมาตรฐาน LEED หรือ หลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา (LEED : Energy and Environmental Design) เป็นเกณฑ์ 2. การจัดสภาพแวดล้อมด้วยธรรมชาติ การสร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร และบริเวณโดยรอบ รูปแบบที่ 2 นี้ นักพัฒนาโครงการกำลังพัฒนากันอยู่ เช่นเดียวกับเอพี ที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเติมพื้นที่สีเขียวเข้าไปในแต่ละอาคาร

M26-3284-4 นอกจากนี้ ยังได้ดีไซน์การสร้างอาคาร ในรูปแบบของอาคารที่มีอากาศไหลเวียน (corridor air flow) ไปแล้ว ที่โครงการ ไลฟ์ ลาดพร้าว ช่วยอาคารที่อยู่มีความเย็นสบาย และอนาคตเอพีจะนำระบบนี้ไปใช้กับทุกโครงการ ซึ่งระบบนี้ไม่เพียงแค่ทำให้อากาศไหลเวียน อาคารไม่ร้อน แต่ยังสามารถป้องกันการถูกรบกวนจากยุง และแมลงต่างๆ ทำให้ฝนตกไม่สาดเข้ามาด้านในอาคาร ได้อีกด้วย

ณ เวลานี้ แม้คนไทยจะยังไม่ตระหนัก หรือให้ความสำคัญมากสักเท่าไร กับอาคารสีเขียว หรือ อาคารที่อนุรักษ์ธรรมชาติ แต่อนาคต อันใกล้นวัตกรรมเหล่านี้ จะเข้ามา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว