วิเคราะห์จังหวะในการลงทุน ปั้นธุรกิจที่รีเทิร์นมั่นคง

09 ก.ย. 2560 | 00:06 น.
ในฐานะทายาทคนสุดท้อง ที่เข้ามา ทำหน้าที่บริหารธุรกิจของครอบครัว หนุ่มวัย 33 ปี “ทอมมี่ เตชะอุบล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ “ซีจีเอช” ไม่ทำให้ผู้เป็นพ่อ (สดาวุธ เตชะอุบล) ผิดหวังเลยจริงๆ

ชายหนุ่มคนนี้ เข้ารับหน้าที่ซีอีโอ ของคันทรี่ กรุ๊ป หลังผ่านงานทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ กับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซีฯ (MFC) โดยระหว่างนั้นได้เข้าอบรมหลักสูตร กลยุทธ์การบริหารธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ รุ่นที่ 40 และเข้าอบรบหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และเขายังได้ไปทำงานในสายพัฒนาธุรกิจ ดูแลฝ่ายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งหุ้นนอกตลาด (Private Equity)
เขาสร้างผลงานโดดเด่นตั้งแต่อยู่ MFC ด้วยการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 6 กองทุน มูลค่ารวม 1.1 หมื่นล้านบาท และดูแลกองทุนอื่นๆ ทั้งหมด 26 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแล 3.2 หมื่นล้านบาท “ทอมมี่” ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญให้กับ บล.คันทรี่ กรุ๊ปฯ ขายธุรกิจ (พอร์ต) รายย่อยที่มีเกือบทั้งหมดออกไป ตัดขายสาขาที่มีจำนวนมากกว่า 40 สาขา เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสาขา แล้วกลับมามุ่งเน้นการเป็นโบรกเกอร์พรีเมียม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น

M26-3284-2A “หลักทรัพย์มันมีการแข่งขันสูง ถ้าเราไปพึ่งเรื่องของรีเทล เราจะค่อนข้างเหนื่อย เพราะเราสู้ธนาคารใหญ่ๆ ไม่ได้ เราปรับเป็นโฮลดิ้ง ขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ และดาวน์ไซด์ธุรกิจรีเทล เพราะการมีสาขาเยอะ ทำให้มีฟิกซ์คอสต์เยอะ ภายใน 2 ปี เราก็ทำตามแผนไปเรียบร้อย หลักทรัพย์เราก็ปรับการแข่งขันเป็นรูปแบบใหม่ ตอนนี้เรามีการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ทำให้ผลประกอบการเริ่มกลับมาดีขึ้น” “ทอมมี่” บอกว่า ตอนที่เขาปรับธุรกิจ ไม่ใช่ว่าธุรกิจไม่ดี แต่เป็นเพราะกำไรมันนิ่ง การปรับเป็นไปตามแนวโน้มตลาด ลดต้นทุนด้านสาขาลง ก็ทำให้มีเงินเหลือไปลงทุนอย่างอื่น อย่างเช่น บริษัท ผาแดง อินดัสทรีฯ (PDI) ซึ่งเขาบอกว่ามันคือ ความท้าทาย เพราะผาแดงเป็นธุรกิจเก่าแก่ เมื่อเขาเข้าไปบริหาร เขาจึงปรับเปลี่ยนทุกอย่าง เข้าไปวางกลยุทธ์ และด้วยความถนัดและสนใจในธุรกิจพลังงานทดแทน เขาจึงเริ่มวางแผนให้ผาแดงปรับตัวเองไปสู่ธุรกิจดังกล่าว

“เรามาจากไฟแนนซ์อินดัสตรี เวลาจะทำอะไร แน่นอนเราต้องเห็นโอกาส ผาแดงเป็นบริษัทในเชิงที่กำลังเปลี่ยนแปลง เราเห็นภาพว่ามันน่าจะเป็นไปได้ บริษัทเขาแข็งแกร่ง แต่คนมองว่า ธุรกิจเขากำลังจะหมด ซึ่งในทฤษฎีการเงิน นี่คือ โอกาสที่ดี เขา Undervalue แต่จริงๆ บริษัทเขาแข็งแรงมาก...เราวิเคราะห์ผาแดง ถือว่าซื้อในราคาที่ใช้ได้เลย เขาลดราคามาแล้ว แล้วมาช่วยเขาปรับบิสิเนส ทุกวันนี้เพอร์ฟอร์มดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้เยอะเลย และคิดว่าใน 2-3 ปีนี้จะก้าวกระโดดได้อีกเยอะ”

M26-3284-1A หนุ่มนักวิเคราะห์การลงทุนคนนี้ บอกว่า เขาวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจ มองว่าบริษัทไหนมีโอกาสเติบโต ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น และเป็นธุรกิจที่มีรีเทิร์นมั่นคง เขาก็จะเข้าไปซื้อ และนั่นคือจุดแข็ง ที่ทำให้เขาได้บริษัทดีๆ มาถืออยู่ในมือ โดยธุรกิจที่เขาสนใจมี 2 ประเภท คือ 1. ซื้อบริษัทที่มีโอกาสโต มีจุดเด่น หรือซื้อได้ราคาถูก ซื้อ ถือ และปรับ ซื้อมาถือทั้งระยะกลางและระยะยาว แล้วแต่ธุรกิจ แล้วทำให้เขาทำรายได้กับกำไรให้เรา

2. การบริหารหรือลงทุนในหลายๆ รูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ เพราะคันทรี่กรุ๊ป คือบริษัทการเงินที่มีสภาพคล่อง เพื่อนำเงินสภาพคล่องไปสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก ระหว่างที่รอจังหวะการลงทุนใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตอนนี้ภาพของคันทรี่ กรุ๊ป เปลี่ยนจากบริษัทหลักทรัพย์ ไปสู่บริษัทลงทุน มีทรัพย์สินประมาณกว่า 6 พันล้านบาท พอร์ตลงทุนประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทไม่มีภาระเรื่องหนี้อะไรเลย เรียกว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งพอสมควรเลยทีเดียว

“ทอมมี่” เล่าอีกว่า ตอนนี้เขาและทีมทำงานหนักมาก เพราะกำลังหาโอกาสในการลงทุนกับโครงการใหญ่ๆ เช่น เรื่องของพลังงานทดแทน และด้าน Hospitality ขณะนี้เขากำลังรอที่จะเข้า Merge and Acquisition (M&A) กับบริษัทในยุโรปอยู่ 2-3 แห่ง รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่มีการเติบโตที่ดี โดยรอจังหวะเลือกบริษัทที่ดีที่สุดเหมาะกับการลงทุน
ซีอีโอหนุ่มคนนี้ มีหลักคิดในการบริหารชัดเจน คือ การสร้างธุรกิจให้เติบโต การลงทุนแต่ละธุรกิจต้องได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ไม่ใช่แค่เหนื่อยแต่ผลตอบแทนต้องดีด้วย ฉะนั้นการลงทุนสูตรสำเร็จต้องเข้าลงทุนธุรกิจที่สำเร็จแล้ว ด้วยการเทกโอเวอร์ ซื้อกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยต้องทำอย่างสมาร์ท วินวินทุกฝ่าย ผลตอบแทนดีจากส่วนต่างราคาหุ้นและเงินปันผล เบ็ดเสร็จแล้วต้องไม่ตํ่ากว่า 15%

“เราอยากได้รีเทิร์น 15% ในธุรกิจที่เราไปลงทุน เวลาเราไปลงทุนในบริษัทเรา เราซื้อๆ แต่เรายังไม่ได้ขาย ราคาเราขึ้นไปเยอะแล้ว มูลค่ามันไปไกล ตอนซื้อผาแดง 15 บาทตอนนี้ 22 บาท การที่เราจะเข้าไปซื้อ เราศึกษานานมาก เราใส่ไปกว่า 1,000 ล้าน เราต้องการความชัวร์” นั่นคือสิ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า ซีอีโอคนนี้มีหลักคิดชัดเจน เป็นระบบมากน้อยแค่ไหน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว