‘คิวอาร์โค้ด’ การชำระเงินแห่งสังคมไร้เงินสด 

03 ก.ย. 2560 | 11:07 น.
ประเทศไทยกำลังจะได้ได้ใช้ระบบการชำระเเงินแบบคิวอาร์โค้ดที่เป็นระบบเดียวกันกับในต่างประเทศแล้วในช่วงปลายปีนี้ เราไปดูกันว่า การชำระเงินแบบนี้ คืออะไร และผู้บริโภคจะได้อะไร รวมไปถึงเทรนด์ในต่างประเทศเป็นอย่างไร ไปติดตามกันในรายงานชิ้นนี้กัน
นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คิ๊กออฟเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินของไทย และระหว่างประเทศ เพื่อใช้ระบบการชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ด ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกผ่านระบบ โมบาย แบงกิ้ง
ถือเป็นการสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหน้าให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society (อ่านว่า แคชเลส โซไซตี้) ที่เป็นกระแสที่กำลังมาแรงอย่างยิ่งในโลก โดยหลายประเทศเริ่มมีการให้บริการการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดกันมาระยะหนึ่งแล้ว
การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Common Quick Response code-based payments ซึ่งก็ คือ การชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่ผู้ใช้บริการแค่เพียงแสกนคิวอาร์โค้ด ของทางร้านค้า หรือผู้ให้บริการ ระบบก็จะทำการชำระเงินโดยหักผ่านบัญชีธนาคารทันที และโอนเงินค่าสินค้าและบริการไปให้กับบัญชีของผู้ค้าทันที นั่นหมายความว่า ด้วยระบบนี้ เช่นนี้ จะทำให้การใช้เงินสดในชีวิตประจำวันลดลง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในหลายประเทศจะเริ่มให้บริการการชำระเงินแบบนี้ไม่ว่าจะในร้านค้า ร้านอาหาร จ่ายค่าแท็กซี่ หรือแม้ว่าจะจ่ายค่าสินค้าในตลาด

DIxhwoBVwAAftf7

คำถามต่อมาก็คือ แล้วผู้บริโภคจะได้อะไร?
แน่นอนว่า การใช้ระบบนี้ จะลดความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมข้อมูลบัตรต่างๆที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ลดความเสี่ยงที่จะทำเงินหาย หรือถูกโจรกรรมถ้าหากพกเงินสดเยอะๆ และที่สำคัญก็คือ สำหรับภาครัฐเองนั้น การทำธุรกรรมเช่นนี้ จะสามารถติดตามข้อมูลและตรวจสอบถึงรายได้ของผู้ค้าได้ซึ่งจะเป็นประโยชย์อย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาการเรียกเก็บภาษี โดยในประเทศไทยนั้น มีข้อกำหนดที่จะต้องลงทะเบียนบัญชีผูกไว้กับระบบพร้อมเพย์ด้วย
กระนั้นก็ตาม เนื่องจากผู้ให้บริการระบบการชำระเงินทั่วโลกยังไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกัน มีผู้ให้บริการหลายเจ้า เรียกได้ว่า เป็นของใครของมันท เช่น อาร์ยูเปย์ มาสเตอร์การ์ด เปย์ทีเอ็ม อาลีเพย์ หรือวีซ่า และอื่นๆอีกมาก แต่ทว่าก็มีความพยายามในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ที่จะสร้างระบบการชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ด ไว้เป็นระบบเดียวกัน

e-book-1-503x62
ตัวอย่างเช่นในอินเดียนั้น มีการให้บริการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด ทั้ง อาร์ยูเปย์ มาสเตอร์การด์ และวิซ่า ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลอินเดียก็ได้เป็นตัวกลางประสานให้ทั้งสามผู้ให้บริการระบบให้บริการผู้ใช้ด้วยระบบคิวอาร์โค้ด แบบเดียวกัน ขณะที่ในประเทศไทย ก็จะเริ่มให้บริการระบบที่เป็นระบบเดียวกันได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้
ขณะเดียวกัน ถ้ากล่าวถึงระบบการชำระเงินแบบคิวอาร์ โค้ด แล้วไม่กล่าวถึง “อาลีเปย์” ระบบการชำระเงินออนไลน์ ของเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างอาลีบาบา ของจีน ก็คงจะไม่ได้ เพราะระบบการชำระเงิน “อาลีเปย์” ถือว่าเป็นระบบการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดของจีนและกำลังขยายไปทั่วโลกในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจชาวจีน ที่เดินทางไปทั่วโลก
โดยสรุปแล้ว การใช้ระบบคิวอาร์โค้ด กำลังเป็นการทำธุรกรรมการเงินในโลกดิจิตัล ที่จะนำไปสู่การเป็น “สังคมไร้เงินสด” ที่หลายประเทศกำลังทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่เพียงแต่ต้องก้าวให้ทัน แต่ต้อง “รู้ทัน” ด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจสปริงนิวส์ รายงาน