แผน5ปี‘บตท.’ ขยับพอร์ต4หมื่นล้าน

03 ก.ย. 2560 | 12:21 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งเพิ่มเติมบทบาทบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) ทั้งการรับโอนสินทรัพย์กลุ่มนอนแบงก์ เป็นผู้ให้คำแนะนำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(Securitization) เพื่อระดมเงินทุนกับโครงการ เป็นต้น

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการบตท.ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี บตท.ตั้งเป้าซื้อกองสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2561 เป็นต้นไป ทำให้พอร์ตสินเชื่อจะขยับเป็น 40,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าทำกำไร 1-2% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

นอกจากนี้ยังมีแผนการใช้เงินงบประมาณ ลงทุนพัฒนาระบบเพื่อรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งภายในปี 2562 และการพัฒนาเข้าสู่ดิจิตอล

[caption id="attachment_203291" align="aligncenter" width="503"] วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการบตท. วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการบตท.[/caption]

บตท.ยังพยายามขยายบทบาทโดยมุ่งขยายฐานลูกค้าด้วยการพัฒนาและออกตราสารหนี้ที่มีพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง (Mortgage backed Securities หรือ MBS) ซึ่งจะส่งผ่านความเสี่ยงและพัฒนาตลาดทุน โดยอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เตรียมแปลงสภาพสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ประเภทส่งผ่าน ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่จะขายกับนักลงทุนในวงกว้างขึ้น

“ สิ่งที่รัฐบาลอยากให้บตท.ทำให้ได้คือการทำ MBS Pass Through ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่ไม่เคยมีคนทำในเมืองไทย แต่ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้น่าจะทราบผลปีหน้าว่าจะ Go หรือ No Go โดยตอนนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เอดีบีเข้ามาช่วยดูด้วย”

การทำ MBS Pass Through นั้น ต้องมีข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปีเพื่อที่จะให้บริษัทจัดอันดับเครดิตใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับดูประวัติ คุณสมบัติของลูกค้า โดยจะเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของพอร์ตสินเชื่อเพื่อใช้เป็น Bench Mark

ขณะเดียวกันบตท.ยังได้กลับมาคุยกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)ใหม่เกี่ยวกับรูปแบบและระยะเวลาในการระดมทุนในอนาคต จากก่อนหน้าที่เคยทำธุรกรรมมาแล้ว โดยบตท.จะต้องช่วยกคช.ในอนาคตเพื่อหาสินเชื่อระยะยาวให้กับลูกค้า
สำหรับปีนี้บตท.เตรียมซื้อกองสินเชื่อที่อยู่อาศัยอีก 4,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าสิ้นปีพอร์ตสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 25,000-26,000ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงิน 2 แห่งทั้งธนาคารและนอนแบงก์

ขณะเดียวกันปีนี้จะระดมทุนประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยอายุตราสารประมาณ 5 ปี คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะใกล้เคียงกับที่ตราสารชุดที่ออกปีก่อนคือ อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.24% ต่อปี

“ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจำนวน 2,800 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 13% จากพอร์ต 22,000ล้านบาท นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คุณภาพลูกหนี้ก็มีส่วน สิ่งที่พบและน่าห่วงคือ ลูกหนี้อาชีพอิสระเยอะการแก้ไขเอ็นพีแอลเราว่าจ้างบริษัทภายนอก 14 แห่งติดตามหนี้ แต่บตท.ทำหน้าที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้เอง โดยสิ้นปีพยายามจะลดเอ็นพีแอลลงเหลือ 10%”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
e-book