โอนเงินเรียลไทม์ผ่านบล็อกเชน เร็วจี๋แค่‘วินาที’ BAYรุกอี-เทรดไฟแนนซ์

06 ก.ย. 2560 | 12:06 น.
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทดลองนำระบบเทคโนโลยี Blockchain ที่นำมาใช้กับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ภายใต้ชื่อ “Blockchain’s Interledger” ถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เข้าสู่การทดสอบในสนามทดลองนวัตกรรมการเงิน หรือ Regulatory Sandbox โดยคาดว่าจะออกจากการทดลองได้ภายในปีนี้

ระบบ Interledger จะเป็นนวัตกรรมสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ ทำให้ระยะเวลาการโอนเงินของผู้ส่งออกและนำเข้าลดลงจากเดิมใช้เวลา 2-3 วัน จะลดเหลือเป็นวินาที ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดการของลูกค้า เนื่องจากได้รับเงินเร็วขึ้น การหมุนเวียนสภาพคล่องดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าได้ด้วย

ขณะเดียวกันช่วยลดความเสี่ยงจากธนาคารตัวกลางที่จากเดิมจะมาทำหน้าที่เป็นตัวแทน ซึ่งมีหลายธนาคารในหลายประเทศที่ไม่ได้รู้จัก จึงเป็นความเสี่ยงระหว่างทาง รวมถึงยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากธนาคารตัวแทนกลางได้อีกด้วย ทำให้รอบของการหมุนเวียนธุรกิจเร็วขึ้น

MP24-3293-A อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นของการทดสอบระบบ Interledger เริ่มทดลองกับบริษัทภายในประ เทศกับเครือข่ายสาขาของ MUFG ในประเทศญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากการทดลองจะต้องมีการเชื่อมระบบระหว่างกันระหว่างผู้โอนและผู้รับ จึงเริ่มจากญี่ปุ่นที่ธนาคารมีเครือข่ายของ MUFG ก่อน และค่อยทยอยทำระบบเชื่อมโยงต่อไปเรื่อยๆ ที่มีเครือข่ายกว่า 2,000 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งภายหลังจากการทดสอบพบว่ามีจำนวนธุรกรรม (Transaction) ทยอยเพิ่มขึ้นให้เห็น และยังไม่พบปัญหาธุรกรรมสะดุดแต่อย่างใด

ธนาคารคาดว่าภายในปีนี้จะได้รับอนุมัติจากธปท.สามารถออกจาก Sandbox และเริ่มใช้ได้ทั่วไปภายในต้นปี 2561 โดยกลุ่มที่ธนาคารจะขยายและโฟกัสการใช้ผ่าน Interledger จะเน้นในกลุ่มที่มีปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างหนาแน่นก่อน จะเป็นประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีปริมาณธุรกรรมสัดส่วนสูงของธนาคาร โดยญี่ปุ่นมีปริมาณธุรกรรมส่งออก 12% นำเข้า 16% จีนส่งออก 11% นำเข้า 12% และสหรัฐฯ ส่งออก 11% และนำเข้า 8%

นอกจากนี้ ธนาคารยังพัฒนาธุรกรรมภายในประเทศผ่านเทคโนโลยี Electronic Invoice Presentment & Payment หรือ EIPP ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถเชื่อมต่อระบบการจัดการทางบัญชี เพื่อการโอนเงิน ตรวจสอบรายการ และยังเชื่อมต่อแผนพัฒนาระบบรองรับโครงการใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล ช่วยลดต้นทุน และธนาคารยังสามารถสนับสนุนวงเงินให้ผู้ซื้อและผู้ขาย (Supply Chain) ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีระบบแจ้งเตือนการชำระเงินผ่าน RTP-Depository Platform ผ่าน SMS,E-Mail, Mobile Application และผู้จ่ายสามารถ เลือกชำระจาก Mobile Application หรือ QR Code จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้เงินสดและต้นทุนการชำระข้ามธนาคารจะลดลง

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้ 2 ระบบของธุรกรรมภายในประเทศ และธุรกรรมระหว่างประเทศเนื่องจากทั้ง 2 ธุรกิจ จะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกพบว่าธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ขยายตัว 17% จากสิ้นปีก่อนขณะที่ธุรกิจ Supply Chain Solution มียอดการตั้งวงเงินสะสมเติบ โต 20% และยอดสินเชื่อขยายตัว 17% โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท คาดว่าหลังนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อเติบโตแล้ว 7.6% ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีอยู่ที่ 6.8% และเติบโตกว่าทั้งระบบที่เติบโตเพียง 3-4% โดยธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.65 แสนบ้านบาท จากสิ้นปีก่อนยอดคงค้างอยู่ที่ 1.53 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (SSME) ที่มียอดขายตั้งแต่ 20-150 ล้านบาท มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง Medium Business ที่มียอดขายตั้งแต่ 150-1,000 ล้านบาท มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเห็นอัตราการเติบโตของลูกค้าขนาดกลางมากกว่าขนาดเล็ก ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 4.2% ตํ่ากว่าระบบอยู่ที่ 4.4% ทั้งปีจะพยายามควบคุมให้อยู่ในระดับดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
e-book