ต้านฮุบ‘ธรณีสงฆ์’ วิรัตน์ ดักคอ! ออกก.ม.โอนที่อัลไพน์หักหลังยายเนื่อม

03 ก.ย. 2560 | 12:12 น.
“วิรัตน์” เตือนอย่าหักหลัง “ยายเนื่อม” ออก ก.ม.โอนที่ธรณีสงฆ์อัลไพน์เป็นของเอกชน หวั่น “ยงยุทธ” ยกขึ้นสู้ชั้นอุทธรณ์ “อัยการ” แนะฟังความเห็นให้ทั่วถึง “หมอบุญ” เล็งนำลูกบ้านฟ้องกรมที่ดินเรียก 5 พันล้าน ขณะเจ้าของสนามกอล์ฟจ่อฟ้อง 3 พันล้าน

ปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่มีการฉ้อฉลจากที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมบริจาคให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร ถูกเปลี่ยนแปลงโอนให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งต่อมาถูกขายต่อให้บริษัท อัลไพน์เรียลเอส เตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนมือไปเป็นของ บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชธานีคลองหลวง จำกัด ของ น.พ.บุญ วนาสิน ทั้งๆ ที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ แต่กลับกำลังจะมีการออกร่างพ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯ ให้เป็นที่ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งก็จะกลายเป็นของเอกชนโดยถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พส.) ได้ร่วมกันจัดทำร่างและได้นำร่างกฎหมายเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ http://www.lawamendment.go.th. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 7-23 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ก่อนที่จะเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเสียงคัดค้านจากนักกฎหมายหลายฝ่าย โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า กำลังจะมีการออกกฎหมายกรณีที่ดินอัลไพน์ ซึ่งอาจจะเป็นคุณให้กับคนที่ทำความผิดในเรื่องคดีอัลไพน์ อย่าง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

“วิธีการที่ถูกต้อง รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำให้เป็นไปตามพินัยกรรมและความประสงค์ของนางเนื่อม คือทำให้ที่ดินกลับไปเป็นของวัด แล้วจากนั้นก็มาแก้ปัญหาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ประชาชนที่ไปซื้อบ้านจัดสรร หรือที่ดินในโครงการหมู่บ้านอัลไพน์ที่เขาซื้อมาด้วยความสุจริตใจ โดยรัฐบาลค่อยมาแก้ปัญหานี้อีกที”

นายวิรัตน์ เชื่อว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่รู้เรื่องรายละเอียด เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่รู้ว่าใครคิดจะทำเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ก็ควรกลับไปทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ตั้งแต่แรก ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินเคยมีคำสั่งความเห็นแล้วว่า ให้เพิกถอนการทำนิติกรรมระหว่าง มูลนิธิ กับเอกชน ที่ทำกันโดยมิชอบ โดยต้องทำให้ที่ดินกลับมาเป็นของวัดก่อนเป็นลำดับแรก เพราะวัดกับมูลนิธิ คนละส่วนกัน หากไปออกกฎหมายแบบนี้ ก็เท่ากับขัดกับเจตนาของเจ้าของที่ดิน ก็เท่ากับเป็นการไปหักหลังเจ้าของที่ดินที่เสียชีวิตไปแล้ว หากทำแบบนี้ ทุเรศมาก หักหลังผู้เสียชีวิต

“ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรเอาด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะจะเป็นการทำให้นายยงยุทธ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดกรณีใช้อำนาจทางปกครองไปทำเรื่อง อัลไพน์ จะยกกฎหมายนี้มาสู้คดีตอนอุทธรณ์ได้ จะเป็นการไปช่วยนายยงยุทธ ให้พ้นผิดได้ ถ้าออกมาแบบนี้ นายยงยุทธ อาจจะรอดได้”

นายวิรัตน์ กล่าวและว่า ถ้าออกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยไม่มีคำอธิบายหรือยังไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน จะไม่อาจแก้ปัญหาที่คาราคาซังทับถมมาเป็นเวลาร่วม 30 ปีได้ เพราะฉะนั้นหากจะมีการส่งร่างพ.ร.บ.นี้ใปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ควรตีตกตั้งแต่วาระแรก

S6066183-2

ด้านนายธนกฤต วรธนัช-ชากุล อัยการจังหวัดประจำ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์นี้ มีจำนวน 5 มาตรา มีเนื้อหาสำคัญที่บัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามฯที่ตั้งอยู่ในโฉนดที่ดิน 2 ฉบับ โฉนดที่ดินฉบับแรกมีเนื้อที่ราว 730 ไร่ โฉนดฉบับที่ 2 มีเนื้อที่ราว 194 ไร่ รวมเนื้อที่ราว 924 ไร่ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2533

นายธนกฤต ระบุว่า การที่กระทรวงมหาดไทยผลักดันให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถึงแม้จะมีความประสงค์ต้องการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องเข้าไปรับผิดชอบ แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นสมบัติของพระศาสนา จึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

“ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถึงแม้จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิ แต่ก็มีวัตถุ ประสงค์เป็นการรับรองการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ให้กับผู้รับโอนที่ดินของวัดที่ผ่านมาทุกๆ รายให้ชอบด้วยกฎหมาย ควรพิจารณาด้วยว่า ผู้รับโอนส่วนใดสุจริต ส่วนใดไม่สุจริต ในการรับโอนที่ดินของวัดมาเป็นของตน เมื่อเปรียบเทียบกับการเยียวยาความเสียหายผู้รับโอนทุกรายแบบเหมาเข่ง จึงเป็นข้อที่น่านำมาชั่งนํ้าหนักพิจารณาประกอบด้วยว่าแนวทางใดจะเหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่ากัน”

ฉะนั้นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่กว้างขวางให้ทั่วถึง อย่างรอบคอบและรัดกุมเพียงพอ จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการและประชาชน การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ เป็นระยะเวลา 15 วัน แม้จะถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางที่มติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ

น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ราชธานีคลองหลวง จำกัด ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีเฮลแคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ลูกบ้านในโครงการอัลไพน์ 600 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลที่พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ อย่างไรก็ดีบริษัทเตรียมยื่นฟ้องกรมที่ดิน จำนวน 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังทราบว่าฝั่งของสนามกอล์ฟอัลไพน์เตรียมฟ้องกรมที่ดินเช่นกัน 3,000 ล้านบาท หากถูกเพิกถอน

“เข้าใจว่าทุกแปลงน่าจะผ่อนกับธนาคารหมดแล้ว เพราะระยะเวลาผ่านมานานกว่า 20 ปี บริษัทปัจจุบันยังเหลือที่ดินรอพัฒนาอีก 20 แปลงและที่ดินริมสนามกอล์ฟ 2-3 แปลง”

น.พ.บุญ ยํ้าว่าที่ผ่านมาบริษัทมีเจตนาบริสุทธิ์ในการซื้อที่ดินดังกล่าว 900 ไร่ 2 แปลง แบ่งเป็นที่ดินสนามกอล์ฟ 730 ไร่ และที่ดินจัดสรรรอบสนามกอล์ฟ 194 ไร่ ต่อจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี 2533 โดยนายเสนาะ เทียนทอง ได้ขอถือหุ้นส่วนของสนามกอล์ฟอัลไพน์ 10% วงเงิน 50 ล้านบาทในเวลาต่อมา เกิดวิกฤติฟองสบู่จึงตัดขายที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปี 2542 โดยใช้ชื่อ บริษัท เอสซีแอสเสทฯ จน ถึงปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560