สนช.ไฟเขียว ‘บรรษัท’ คุม! 11 รัฐวิสาหกิจ

03 ก.ย. 2560 | 06:41 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช.มติเอกฉันท์รับร่าง ก.ม.วาระแรก ดันตั้ง “บรรษัท” คุม 11 รัฐวิสาหกิจ ขณะสมาชิกรุมติงหวั่น ฝ่ายการเมืองแทรกแซง

 

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ วาระแรก ด้วยมติเอกฉันท์ 169 ต่อ 0 เสียง พร้อมเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 29 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน มีระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

 

สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนา 11 รัฐ วิสาหกิจ ในภาพรวมทั้งระบบให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ซึ่งโครงสร้างของคนร. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคนร. รองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย 1 คน เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นที่ ครม.แต่งตั้งจำนวน 2 คน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการบริษัท

TP16-3293-2

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครม.แต่งตั้งอีกจำนวน 5 คน โดยมีอำนาจหน้าที่ 15 ด้าน อาทิ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อครม. กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง หรือบรรษัทในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยความเห็นชอบของครม. ในการควบหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้หุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดให้ตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นเป็นนิติบุคคล หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท 11 รัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย 1.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด 4.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 7.บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 9.บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด 10.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ 11.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

ทั้งนี้สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายท้วงติงในประเด็นเดียวกัน โดยเป็นห่วงว่าในอนาคตฝ่ายการเมืองอาจใช้ช่องทางในการแต่งตั้ง คนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแทรกแซงกิจการของรัฐวิสาหกิจ จึงอยากให้พิจารณาเพื่อหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว