เปิดเสรี! ขายไฟผ่าน 'สถานีชาร์จ'

03 ก.ย. 2560 | 07:13 น.
สนพ.เร่งขับเคลื่อน Energy 4.0รับกระแสรถยนต์ไฟฟ้าก.ย.นี้ เปิดให้ประชาชนทั่วไปขายไฟผ่านสถานีชาร์จได้เสรี แต่ต้องแจ้งให้กกพ.รับทราบ ค่าไฟ 2.60-4.10 บาทต่อหน่วย ยันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านลดการใช้ฟอสซิล พึ่งแหล่งกักเก็บพลังงาน ทุกฝ่ายขานรับ โหมทำสถานีชาร์จ รองรับตลาดล่วงหน้า

งานสัมมนา “Create The Future Energy: อนาคตพลังงานไทย4.0” จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับ กองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาโดยมีนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าวพร้อมด้วยวิทยากรร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนพลังงาน 4.0 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลไปสู่ในการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยจะนำแหล่งกักเก็บพลังงานหรือ Energy Storage ที่กำลังพัฒนาอยู่นี้มาใช้ควบคู่ จะช่วยให้พลังงานทดแทนมีเสถียรภาพมากขึ้นหรือสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ในช่วงการผลิตที่มีต้นทุนตํ่าและนำไฟฟ้าไปจ่ายช่วงที่มีต้นทุนสูงหรือช่วงพีก ซึ่งจะช่วยลดภาระของผู้บริโภคจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงได้ และยังสามารถตอบโจทย์ข้อจำกัดของแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ให้สามารถใช้งานได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้นด้วย

[caption id="attachment_203135" align="aligncenter" width="503"] ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)[/caption]

นอกจากนี้ ด้วยนโยบายของรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) กระทรวงพลังงานได้รับหน้าที่ดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์อีวีให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เกิดขึ้นแล้ว 100 แห่ง และสิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 แห่ง

อีกทั้ง ยังสนับสนุนให้รถตุ๊กตุ๊กที่ใช้นํ้ามันและก๊าซ เปลี่ยนมาเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (eTukTuk) ซึ่ง สนพ. โดยกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนงบประมาณเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั่วประเทศ 2 หมื่นคัน เป็นรถตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้าภายใน 5 ปี โดย 2 ปีแรกนำร่องจำนวน 100 คัน

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทางกระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายที่จะเปิดเสรีให้ประชาชนทั่วไปสามารถขายไฟฟ้าผ่านสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ภายในช่วงเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป แต่ผู้ประกอบการจะต้องไปจดแจ้งกับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อให้เข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยทางการไฟฟ้า จะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า(เนื้อไฟฟ้า) ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก คือ“อัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา(TOU)” แบ่งเป็นกลางวันคิดในราคา 4.10 บาทต่อหน่วย และกลางคืน และเสาร์ อาทิตย์ หรือช่วงออฟพีก คิดอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปบวกส่วนต่างของกำไรต่อไป

++ตั้งเป้า5ปีมีรถอีวี4แสนคัน
นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สะท้อนให้เห็นว่า ด้วยนโยบายในการส่งเสริมและการพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยให้รถยนต์อีวีเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะเป็นตัวกระตุ้นให้การลงทุนผลิตรถยนต์อีวี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊กหรือ PHEV ที่มีเป้าหมายเบื้องต้นทำให้เกิดการใช้รถยนต์ PHEV และรถยนต์อีวี ให้ได้อย่างน้อย 5% ของยอดการใช้รถยนต์โดยรวม ในระยะเวลา 5 ปี หรือราว 4 แสนคัน

ขณะเดียวกันทางสมาคมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี รวมทั้งแนวทางผลักดันเพื่อให้ผู้ประกอบการรถยนต์อีวีตั้งฐานการผลิต และจะสรุปข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะกรรมการอีอีซีภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งล่าสุดพบว่ามีผู้ประกอบการค่ายรถยนต์อีวีหลายรายที่แสดงความสนใจลงทุน อาทิ BMW , นิสสัน และFOMM เป็นต้น

++บีโอไอหนุนเต็มที่
ด้านนายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวว่า ทางภาครัฐหรือบีโอไอ มีความพร้อมในการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี รวมถึงแหล่งกักเก็บพลังงาน เนื่องจากบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนออกมาแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับค่ายรถยนต์จะมีความพร้อมในการผลิตรถยนต์อีวีได้เมื่อใด

โดยที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้เข้ามาหารือกับบีโอไออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน้าใหม่ๆ จากสหรัฐอเมริกา เช่น เทสลา ก็กำลงศึกษาอยู่ ซึ่งการที่ค่ายรถยนต์ยังไม่ตัดสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์อีวี 100% เนื่องจากยังมีเวลาให้ยื่นขอรับส่งเสริมได้ถึงสิ้นปี 2561 ทำให้ค่ายรถยนต์มีเวลาศึกษาและจัดทำแผนลงทุน

ส่วนการขอส่งเสริมการลงทุนแหล่งกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มีบางค่ายที่ได้มายื่นขอรับส่งเสริมแล้วเช่น บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นฯ เป็นต้น ซึ่งมองว่าจากกระแสรถยนต์อีวีและพลังงานทดแทนที่เกิดขึ้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ แต่รถยนต์อีวีจะเกิดได้เร็วหรือช้านั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเข้ามาสร้างตลาด ในการให้แรงจูงใจผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ด้วย

[caption id="attachment_203134" align="aligncenter" width="503"] “Create The Future Energy : อนาคตพลังงานไทย4.0” สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และสื่อในเครือสปริงนิวส์ กรุ๊ป จัดงานใหญ่ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมี ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้เกียรติเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Energy 4.0 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง “Create The Future Energy : อนาคตพลังงานไทย4.0” สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และสื่อในเครือสปริงนิวส์ กรุ๊ป จัดงานใหญ่ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมี ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้เกียรติเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Energy 4.0 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง[/caption]

++จี้รัฐกำหนดทิศทางให้ชัดเจน
นางพิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยหัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุและระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานไฟฟ้าเคมี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่ารัฐบาลจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย โดยจะต้องกำหนดเป็นแนวนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยและพัฒนาจะได้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดียอมรับว่ารัฐบาลไทยค่อนข้างเปิดกว้างในการสนับ สนุนงานวิจัยเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หวังว่าในอนาคตการให้ทุนวิจัยและพัฒนาจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างแต่ละกระทรวงเพราะในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้วิจัยจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันอย่างชัดเจนว่าดำเนินการไปเพื่ออะไร มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เงินที่สนับสนุนไม่สูญเปล่าไปกับงานที่อาจจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันนี้ก็จะต้องพยายามสร้างบุคลากรที่จะเข้ามา โดยที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจะต้องช่วยกันดู

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัทได้เดินหน้าลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิต Energy Storageในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และคัดเลือกพื้นที่ตั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้ โดยแผนการลงทุนนั้นคาดว่าในระยะเวลา 5 ปี จะใช้เงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 50 GWh และภายในปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้างโรงงานระยะแรกที่กำลังผลิต 1 GWh ด้วยเงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน และหลังจากนั้นจะทยอยลงทุนให้ครบตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายที่จะลงทุนในส่วนนี้ 1 พันแห่ง ภายในปี 2561 ใช้เงินลงทุนราว 600-700 ล้านบาท แม้หลายฝ่ายจะมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่มีการใช้หรือผลิตมากนัก แต่เพื่อเป็นการจุดกระแสและสร้างความมั่นใจให้กับตลาดรถยนต์อีวี บริษัทจึงต้องผลักดันสถานีชาร์จไฟฟ้าออกมาให้เห็นโดยอย่างน้อยปีนี้น่าจะได้เห็นการตั้งสถานีราว 400 แห่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว