รถไฟฟ้าสายสีม่วงสร้างอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาแห่งที่ 2 เชื่อมพระนคร-ฝั่งธนบุรี

06 ก.ย. 2560 | 09:01 น.
รถไฟฟ้าเส้นทางช่วงนี้ยังคงมีลุ้นเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเปิดประมูลช่วงโค้งสุดท้ายปี 2560 นี้อีกหนึ่งโครงการ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการสถานะขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนธันวาคม 2560 ก่อสร้างธันวาคม 2561 และเปิดให้บริการในปี 2567

โดยล่าสุดนั้นการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ได้พิจารณาเมื่อวันนี้ 25 สิงหาคม 2560 เห็นชอบในหลักการรูปแบบสถานีและปล่องระบายอากาศในกรุงรัตนโกสินทร์ ตามที่ รฟม. เสนอและให้รับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในกรุงรัตนโกสินทร์ไปประกอบการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตงานในเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างสถานีในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหลังจากนี้ รฟม. จะต้องนำไปผนวกในรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อดำเนินงานประกวดราคาและก่อสร้างโครงการต่อไป

TP12-3293-B สำหรับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนน ง.8 ข้ามคลองบางซื่อ โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสนผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปกผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์

หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านแยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน รวมระยะทาง 23.6กิโลเมตร โดยเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11กิโลเมตร รวมสถานีทั้งสิ้น 17สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานีและสถานียกระดับ 7 สถานี)วงเงินลงทุนประมาณ 101,112ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว