ธสน.จัด3โปรแกรมรับโจทย์‘สมคิด’ 10ปีช่วยเอสเอ็มอี1.5หมื่นราย

06 ก.ย. 2560 | 11:57 น.
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งโจทย์ใหญ่ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ได้อย่างเต็มที่ หลังจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีค่อนข้างล่าช้า โดยหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายโจทย์สำคัญก็คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หรือ ธสน. ที่จะต้องหาแนวทางในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

[caption id="attachment_202888" align="aligncenter" width="503"] พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธสน. พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธสน.[/caption]

**อัด 3 โปรแกรมหนุน
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธสน. ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีในปัจจุบันคือผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด และไม่มีเงินทุนที่เพียงพอในการขยายกิจการ โดยในส่วนของ ธสน. จะมุ่งเน้นการสนับสนุนในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องการเงินเป็นหลัก ทั้งการจัดหาเงินทุน และการจัดการทางด้านความเสี่ยงโดยการรับประกันความเสี่ยง ดังนั้น ธสน. จึงได้ดำเนินการจัดโปรแกรมเพื่อเอสเอ็มอี ออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจเริ่มต้นส่งออก โดยสินเชื่อส่งออกทันใจ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้นจึงกำหนดให้สามารถนำออร์เดอร์จากต่างประเทศมาเป็นหลักคํ้าประกันได้ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ อีกทั้งยังมีวงเงินรับประกันสูงสุดให้ 5 แสนบาทต่อรายผู้ซื้อ โดยคิดค่าเบี้ยประกัน 3,000 บาทต่อรายผู้ซื้อ ซึ่งช่วงโปรโมชันจะลดให้เหลือเพียงแค่ 1,500 บาท มีอัตราความคุ้มครอง 85%

“เอสเอ็มอีเหล่านี้เวลาที่ขายสินค้าไปต่างประเทศ คู่ค้ามักจะไม่ยอมทำหลักประกันว่าผู้ส่งออกจะได้รับเงินค่าสินค้าเมื่อมีการส่งมอบสินค้าลงเรือ หรือยานพาหนะขนส่งตามที่ได้ตกลงไว้ หรือการเปิด L/C ให้ เพราะมองว่าบริษัทยังมีขนาดเล็ก ทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้น ธสน. จึงรับประกันการส่งออกให้ เพื่อให้เอสเอ็มอีได้รับเงินอย่างแน่นอนเวลาที่ส่งออก”

TP13-3293-A 2.กลุ่มธุรกิจส่งออกขนาดเล็ก โดยเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มโต และยังไม่มีหลักประกัน ธสน. จึงสนับสนุนด้วยสินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า ให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้คํ้าประกัน และขอให้ทำประกันค่าเงิน ณ เวลานั้น เพื่อป้องกันความผันผวน โดยให้วงเงินสำหรับดำเนินการเรื่องดังกล่าวเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ พร้อมยืดหยุ่นให้หากออร์เดอร์มีการเลื่อนระยะเวลาออกไป

“ปัญหาของเอสเอ็มอีก็คือเมื่อขายของเสร็จเรียบร้อยจะรู้ราคา ณ เวลานั้นว่าอยู่ที่เท่าไหร่ ดังนั้น เราจึงต้องการให้ฟิกซ์ฟอร์เวิร์ดไปเลย เพื่อที่จะไม่ต้องมาแบกรับความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน โดย ธสน. พยายามบอกเอสเอ็มอีเสมอว่าคุณถนัดค้าขาย ก็จะรู้ได้ทันทีว่ามีกำไรเท่าไหร่ แต่คุณไม่ใช่นักเก็งกำไรค่าเงิน ขนาดแบงก์ยังเจ๊งได้ในเรื่องค่าเงิน เพราะฉะนั้น ทางที่ดีอย่าเข้าไปยุ่ง เราจึงให้วงเงินสำหรับฟิกซ์ฟอร์เวิร์ดไปด้วย”

3. กลุ่มธุรกิจส่งออกขนาดกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะมีหลักประกัน โดยเสนอโปรแกรมสินเชื่อส่งออกพลัส โดยใช้หลักประกัน 25% พร้อมทำประกันความเสี่ยงให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ ซึ่งหากเอสเอ็มอีไม่ยอมทำก็จะคิดดอกเบี้ยที่ 6% ต่อปี โดยประเด็นที่สำคัญก็คือคู่ค้าจากต่างประเทศมักไม่ค่อยมีเครดิต หากไม่ทำประกันก็จะเกิดความเสี่ยงการเรียกเก็บเงินจากคู่ค้า ซึ่งเราเป็นสถาบันการเงินเดียวที่รับประกันความเสี่ยงจากการส่งออก แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่ค่อยยอมใช้

**ช่วยSMEs1.5หมื่นราย10 ปี
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่าจากโปรแกรมดังกล่าว ธสน. คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ประมาณ 1,300 รายภายใน 1 ปี หรือประมาณ 5% ของกลุ่มที่ทำธุรกิจส่งออกทั้งหมด โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้ได้ถึง 30% ใน 10 ปี หรือประมาณ 15,000 ราย ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกก็น่าจะทำได้แล้วครึ่งหนึ่งจากเป้า อย่างไรก็ดี ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษา รวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกโปรแกรมช่วยกลุ่มส่งออกที่เริ่มโต โดยคาดว่าวงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อราย และมี บสย. เป็นผู้คํ้าประกัน

“เอสเอ็มอีทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย โดยเป็นกลุ่มที่ทำส่งออกประมาณ 2.5 หมื่นราย และเป็นเอสเอ็มอีที่ทั้งนำเข้าและส่งออกอยู่ประมาณ 3 หมื่นราย ซึ่ง ธสน. จะเน้นไปที่กลุ่มส่งออก โดยตั้งเป้าจะเข้าไปช่วยเหลือให้มากขึ้น แต่จะไม่เน้นไปที่จำนวนเงิน เพราะเอสเอ็มอีหากไปช่วยเรื่องเงินมากอาจจะกระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคารได้”

ทั้งนี้ ธสน. เตรียมดำเนินการเปิดสาขาที่ประเทศลาวในช่วงต้นปี 2561 และเปิดสาขาที่ประเทศกัมพูชาในช่วงไตรมาส 1/2561 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดสาขาที่ประเทศเมียนมาไปเรียบร้อยแล้ว กลุ่มประเทศ CLMV เปรียบเสมือนไทยช่วง 10 ปีที่แล้ว คือ ไม่มีข้อมูล ไม่มีเครดิตบูโร การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นว่า ธสน. ออกโปรแกรมขนาดเล็กช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถทำในลักษณะดังกล่าวได้ แต่เมื่อมั่นใจว่ารู้จักคู่ค้าเป็นอย่างดีก็จะมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ธสน. จึงต้องดำเนินการเข้าไปเปิดสาขาในกลุ่มประเทศ CLMV ดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูล โดยเชื่อว่าภายในระยะเวลา 10 ปี ก็จะมีความพร้อมและสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ตามเป้าที่ 15,000 รายดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว