ออสซี่เล็งส่งออกไฟฟ้าพลิกแสงแดดเป็นรายได้

06 ก.ย. 2560 | 12:01 น.
ออสเตรเลียวางแผนพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เตรียมผลักดันรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่แห้งแล้ง อากาศร้อนจัด ให้กลายเป็นฐานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลียครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของผืนดินทั้งหมดของทวีป เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่และมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน ทางตอนเหนือมีฤดูแล้งและฤดูฝนแทนที่ฤดูหนาว ส่วนตอนกลางของรัฐมีภูมิอากาศแบบกึ่งแห้งแล้งและแห้งแล้ง สภาวะดังกล่าวกำลังจะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นคุณสมบัติเด่นที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไปในอนาคต นางอลันนาห์ แมคเทียร์แนน รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เปิดเผยว่า กำลังจัดทำแผนการส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านของออสเตรเลียในทวีปเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าแผนการดังกล่าวจะสามารถเริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรมได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี

ในรายงานที่นำเสนอโดยรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียระบุว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรองรับการส่งออกกระแสไฟฟ้าจากออส เตรเลีย “ถึงเวลาแล้วที่เราจะเจรจาเบื้องต้นในเรื่องนี้กับอินโดนีเซียและหารือความเป็นไปได้ที่อินโดนีเซียจะขยายสัดส่วนการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตจากออสเตรเลีย”

เขตพิลบาราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียมีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมการทำเหมือง แต่ปัจจุบันทางรัฐ กำลังพิจารณาแผนผลักดันให้เขตพิลบาราเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงในปริมาณสูงและมีพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ที่เหมาะสมกับการทำโซลาร์ฟาร์ม

TP10-3293-B จากรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพบว่า ออสเตรเลียสามารถส่งออกกระแสไฟฟ้าจากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไปยังเกาะชวาตะวันออกผ่านทางสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทาง 1,500 กิโลเมตร การตั้งเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงเพื่อการส่งออกดังกล่าวคาดว่าต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ออส เตรเลีย หรือประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดอกเตอร์ อิมราน ฮาบิบ อาหมัด ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University : ANU) ให้ความเห็นว่า การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนจะให้ผลตอบแทนที่เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในด้านการจ้างงาน ซึ่งจากการศึกษาหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่า อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่มากกว่าอุตสาหกรรมพลังงานแบบดั้งเดิม และสำหรับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพื่อการส่งออกของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียนี้ รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเบื้องต้นระบุว่า อาจก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 12,000 ตำแหน่ง ทั้งเพื่อการก่อสร้างและวางเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและตำแหน่งงานในส่วนที่เกี่ยวกับโซลาร์ฟาร์ม

“มีโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมากมายในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียจากโครงการนี้ ออสเตรเลียจะได้ประโยชน์มหาศาลจากเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ดอกเตอร์อิมรานกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว