‘เมติ’ยันพร้อมหนุนไทยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

06 ก.ย. 2560 | 12:00 น.
ญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนไทยพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า รักษาความเป็นฐานผลิตยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาค ยํ้าไทยมาถูกทางในการส่งเสริมการลงทุนกระตุ้นภาคการผลิต แต่ยังห่วงมาตรการกระตุ้นในฝั่งอุปสงค์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

นายซาโตชิ นิชิโนะ ผู้อำนวยการกองอุตสาหกรรมยานยนต์และนโยบายการค้ายานยนต์ระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยในงานสัมมนา Next Generation Vehicles Symposium จัดโดยเมติร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันยานยนต์แห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้ ว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือมายาวนานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ จนกระทั่งฐานการผลิตในประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็น Detroit of Asia และยังจะคงสถานะนี้ต่อไปในอนาคต แม้ว่าเทคโนโลยีด้านยานยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปและกระแสใหม่ๆจะเข้ามา เช่น กระแสยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถอีวี (Electric Vehicles: EV) ที่ญี่ปุ่นเองมีการพัฒนาจนก้าวหน้ามาอยู่ในแถวหน้าของโลก และไทยเองก็มียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนที่จะมุ่งพัฒนาในด้านนี้

[caption id="attachment_202854" align="aligncenter" width="335"] ซาโตชิ นิชิโนะ ซาโตชิ นิชิโนะ[/caption]

“ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นยานยนต์แห่งอนาคตเพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ายานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ซึ่งใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิง) ญี่ปุ่นเองมีพันธกิจในการลดการก่อก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เรามีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายรถใหม่ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (รวมรถอีวีและรถแบบปลั๊ก-อินไฮบริด) จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรวม ให้ได้ 20-30% ภายในปี 2030” ผู้แทนจากเมติกล่าว พร้อมระบุว่า เหตุผลสำคัญที่สัดส่วนยอดขายรถไฟฟ้ายังไม่สูงนักเพราะราคายังสูงกว่าราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะเดียวกันระยะทางวิ่งของรถอีวีก็ยังไม่มากนักและยังมีความจำเป็นต้องสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้รถประเภทนี้ “เรามีรถอีวีและปลั๊ก-อินไฮบริดทั่วประเทศญี่ปุ่นราว 1.6 แสนคันในปัจจุบัน ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 7 แสน- 1 ล้านคันในปี 2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้ามีจำนวนกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบสนับสนุนการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้วกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

นายนิชิโนะกล่าวว่า จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้ามาใช้อย่างเห็นได้ชัด คือเมื่อกราฟจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น จำนวนยอดขายรถประเภทนี้ก็จะทะยานตามไปด้วย ฉะนั้นในการที่จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นยานยนต์แห่งอนาคตนั้น นอกจากภาครัฐจะต้องให้การส่งเสริมการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตอย่างที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่นั้นซึ่งมาถูกทางแล้ว ยังควรจะต้องกระตุ้นอุปสงค์ (demand) ในตลาดด้วย เช่นด้วยการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าซึ่งระยะแรกรัฐควรเป็นผู้ลงทุนไปก่อน และเขาเห็นว่าเป้าหมายของไทยที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 สถานีภายในปี 2036 นั้นยังน้อยเกินไป นอกจากนี้ภาครัฐยังควรอุดหนุนการซื้อ(ยานยนต์ไฟฟ้า) ไม่ว่าจะเป็นในรูปการลดหย่อนภาษีหรือการอุดหนุนเป็นเงินสดส่วนลด ซึ่งในญี่ปุ่นมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ขณะเดียวกันก็มีมาตรการทางการเงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตให้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ไกลและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย สำหรับเมติเองนอกจากการร่วมจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้แล้วก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนี้ในไทยไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคนิควิชาการหรือการฝึกอบรมเพิ่มทักษะบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว