การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง วัดกันที่ “กึ๋น” ผู้นำ?

09 ก.ย. 2560 | 05:01 น.
TP07-3293-A


Goethe ปรัชญาเมธีคนดัง เคยกล่าวไว้ว่า... “The important thing in life is to have a great aim, and the determination to attain it.”

การชิงชัยเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศเยอรมนี กำลังจะเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในวันที่ 24 ก.ย. นี้ นับว่าเป็นมวยถูกคู่ ที่มีเชิงชั้นสูสีพอกัน ระหว่างแชมป์เก่า “นางอังเกลา แมร์เคิล” วัย 63 ปี แห่งพรรคสหภาพประชาธิปไตยชาวคริสเตียน (CDU) กับผู้ท้าชิงดาวรุ่งดวงใหม่ ซึ่งเป็นถึงอดีตประธานสภายุโรป “นายมาร์ติน ชูลซ์” วัย 61 ปี แห่งพรรคประชาธิปไตยสังคม (SPD) โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากการประชุมใหญ่ ให้เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้

[caption id="attachment_202753" align="aligncenter" width="503"] อังเกลา แมร์เคิล อังเกลา แมร์เคิล[/caption]

จากผลการสำรวจคะแนนเสียงเบื้องต้นล่าสุด ปรากฏว่า นางแมร์เคิล นำ นายชูลซ์ 38 ต่อ 24% เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18-21 ปี ให้การสนับสนุนนางแมร์เคิลถึง 57% ส่วนนายซูลซ์ได้เพียง 21% เท่านั้น

ปรากฏการณ์การก่อการร้ายที่ทำความเสียหายแถบยุโรปที่ผ่านมา เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก่อผลกระทบต่อการเลือกตั้งของนางแมร์เคิล พ่ายแพ้ในหลายพันธรัฐ  นักวิเคราะห์การเมืองถึงกับพากันตะลึงพรึงเพริดว่า ยุคความยิ่งใหญ่ของนางแมร์เคิลได้ถึงกาลอวสานแล้วหรือไง?

แต่... ทุกสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง มาบัดเดี๋ยวนี้ ผ่านพ้นมา 1 ปี วิถีการเมืองของนางแมร์เคิลกลับสดใสขึ้น เสมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากภาพลักษณ์แห่งความเป็นผู้นำที่ Have Great aim อันทำให้ชื่อเสียงเชิงชั้นของนางแมร์เคิลได้เปร่งประกายความเก่งกาจ เป็นที่ประจักษ์อยู่บนสารบบในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับในความเป็นผู้นำอย่างเหนียวแน่น จากนานาอารยประเทศ

ดังนั้น นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ย. 2548 เป็นต้นมา ถ้าได้รับเลือกเป็นผู้นำในปี 2560 นี้อีกครั้ง เธอก็จะกลายเป็นวีรสตรีผู้ทำลายสถิติการดำรงตำแหน่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศเยอรมนีถึง 4 สมัย

สำหรับด้านฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเอสพีดี ต่างก็เชื่อว่า ต่อจากนี้ไปจะเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของนายซูลซ์แล้วแน่นอน... แต่ความจริงจะเป็นดังนั้นหรือ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ เพราะถ้าดูผลการเลือกตั้งของพรรคเอสพีดีที่ผ่านมา ยังคงไม่สามารถเขย่ารากฐานความนิยมของพรรคขนาดใหญ่ อย่าง “ซีดียู” ได้อย่างแท้จริง การพ่ายแพ้ถึง 3 ครั้งรวดของพรรคเอสพีดีเมื่อ 3 เดือนก่อน ทำให้นายซูลซ์แทบกระอักเลือดตายเช่นกัน...

เหตุนี้ นายซูลซ์จึงต้องหันมาเล่นบท “ชูธง” ประชานิยม โดยเน้นการสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมและการขจัดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย แบบ “ราคาคุย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ
นอกจากการโชว์กึ๋นในเรื่องดังกล่าวแล้ว นายซูลซ์ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อสถานีโทรทัศน์ในประเทศ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. อย่างโอหังอีกว่า “ข้าพเจ้ากำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งเยอรมนี!” ขณะเดียวกัน เขาได้ยอมรับว่า คงจำต้องจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่น ๆ ด้วยในที่สุด

ทั้งนี้ แม้นายซูลซ์จะโชว์ความมั่นใจในชัยชนะครั้งนี้ก็ตาม แต่สำหรับชาวเยอรมนีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต่างพากันมองเห็นว่า นโยบายบริหารประเทศสุดโต่งของนายซูลซ์ ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ฉะนั้น จึงเชื่อได้ว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากยอมเดินตามแนวทางของนางแมร์เคิล เพื่อลดความเสี่ยงอันมิอาจคาดเดาได้ ในกรณีถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่จากนางแมร์เคิลเป็นนายซูลซ์

ดังนี้ ผู้เขียนจึงวิเคราะห์สรุปว่า ฐานะทางการเมืองของนางแมร์เคิลยังมั่นคงดังภูผา และจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้งตามคาดหมายแน่นอน ทั้งนี้ เพราะอะไรท่านทราบไหม? โปรดตามต่อ...

นางอังเกลา แมร์เคิล ได้รับเลือกตั้งสู่สภาเยอรมนีจากรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น เป็นประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2543 และผงาดขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเยอรมนี ที่มีบทบาทสำคัญ อีกทั้งได้รับคำยกย่องว่าเป็น “สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก”

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

ทั้งนี้ แม้พรรค (ซีดียู) ของนางแมร์เคิล จะประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหลายรัฐ เนื่องจากมีพรรคคู่แข่งใหม่ที่ก้าวขึ้นมาอย่างโดดเด่น นั่นคือ พรรคเอเอฟดี ซึ่งเป็นฝ่ายขวา มีนโยบายต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพและการอ้าแขนรับผู้ประท้วงของนางแมร์เคิล ซึ่งเธอก็ยอมรับอย่างห้าวหาญว่า นโยบาบดังกล่าวเป็นสาเหตุแห่งการพ่ายแพ้จริง แต่ก็ไม่กระทบต่อความนิยมในตัวเธอมากนัก เนื่องจากผลสำรวจล่าสุดออกมา บ่งชี้ว่า ชาวเยอรมนียังคงนิยมตัวเธอถึง 55% และต้องการให้เธอได้ดำรงตำแหน่งใหม่อีกเป็นสมัยที่ 4 อย่างท่วมท้น จากผลงานการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโลกมามากมาย จึงทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้นำอันโดดเด่นของยุโรปโดยปริยาย

จะสังเกตเห็นคนเยอรมนีทั่วไป มักมีบุคลิกเข้มแข็งอดทน ทำงานจริงจัง ขึงขัง แต่ถ้าหวนกลับมาดูบุคลิก รูปร่าง หน้าตา ของผู้นำประเทศที่นิตยสารฟอร์บส์ยกให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกถึง 2 ปีติดต่อกัน อย่าง นางแมร์เคิล แล้วทำให้ได้พบความจริงข้อหนึ่งว่า ที่แท้เรื่องของรูปร่างหน้าตาเชย ๆ นั้น มิได้ลบเลือนความมี “กึ๋น” ของนางแต่อย่างใด

ต้องยอมรับ เธอไม่ได้เป็นหญิงแกร่ง หรือ “หญิงเหล็ก” อย่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ “มาร์กาเร็ต แธตเชอร์” และดูเธอออกจะอ้วนตุ๊ต๊ะไม่คล่องแคล่ว เฉลียวฉลาด หรือ ฉะฉาน อย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” แต่ทว่า น่าประหลาดไหม? ผู้หญิงที่มิได้สวยเด่นอย่าง “แมร์เคิล” ไยจึง? สามารถต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำดังกระฉ่อนโลก?

ในอดีต นางแมร์เคิลเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันตะวันออก จบดอกเตอร์ด้านฟิสิกส์ ทำงานวิจับเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม แต่มีความสามารถพิเศษพูดภาษาทั้ง เยอรมนี อังกฤษ และรัสเซีย ได้ดี เป็นสาวทึนทึก เชย ๆ ที่ไม่ปรากฏความโดดเด่น ทำนองว่า เป็นคนไม่แต่งตัว ไม่ใส่สูต และทำทรงผมเชย ๆ ไม่เอาไหน และที่ร้ายที่สุด ยังกล่าวหาใส่ร้ายเธอว่า เคยเป็นพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อีกด้วย แต่เธอก็โต้กลับอย่างแหลมคมว่า “คนที่ฉลาด มีกึ๋น มีเรื่องจะพูดเยอะไป ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางหรอกนะ”

นางแมร์เคิลใช้วิธีสยบความเคลื่อนไหวด้วยความสงบกับผู้ต่อต้านเธอจนสำเร็จ โดยจะเห็นได้จากคะแนนนิยมของประชาชน บ่งบอกให้เห็นว่า ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศนั้น มีประชาชนกว่า 75% ยอมรับรัฐบาลของเธอ ที่ทำผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นระดับคะแนนนิยมที่มีสูงกว่าผู้นำชายก่อนหน้านี้ทั้ง 7 คน และสามารถระดมความเชื่อมั่นได้สูงสุด นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ชาวเยอรมนีต่างชื่นชมบทบาทการเป็นผู้นำของนางแมร์เคิล ในกรณีที่เธอสามารถต่อกรกับผู้นำโลก เช่น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่ง ปูติน หรือ ซาร์โกซี่ อย่างเสมอภาค ด้วยการโน้มน้าวให้กลุ่มประเทศจี 8 เห็นพ้องในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ได้ในระดับหนึ่ง จนได้รับฉายาจากสื่อให้เป็น “Miss World” ...ทำให้ผู้เขียนได้รู้ทฤษฎีใหม่ว่า ถึงไม่สวยแต่เก่ง ก็เป็น “มิส เวิลด์” ได้นะ! ถ้ามี “กึ๋น” จริง

TP07-3293-2A
ที่น่าจับตา รัฐบาลที่เธอบริหารอยู่นั้น สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากวิกฤต ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาในอัตราการเติบโตของจีดีพีมาอยู่ที่ 3% และปรากฏตังเลขการส่งออกของเยอรมนีสูงที่สุดในโลก รวมทั้งตัวเลขของคนว่างงานก็ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ดังนั้น การแก้ปัญหาของชาติหรือเศรษฐกิจได้ลุล่วงด้วยดี ย่อมต้องถือเป็นผลงานจากความมี “กึ๋น” ของผู้นำอย่างเธอ (หาใช่ดีแต่ราคาคุย” ...มิใช่หรือ?

ใครจะคิด... ผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างนางแมร์เคิล ดำรงชีวิตประจำวันส่วนตัวอย่างเรียบง่าย อยู่กินกับ นายโยอาคซิม ซาวเออร์ สามีที่แต่งงานกันใหม่เมื่อปี 2541 และใช้ชีวิตหลังเลิกงาน (รัฐ) แล้วไปจ่ายตลาด เหมือนแม่บ้านธรรมดา ๆ ทั่วไป ...ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เธอมิได้เสแสร้ง แต่เป็นคนจริงใจ มุ่งมั่น ขยันทำงานเพื่อส่วนรวม “ตัวจริงเสียงจริง”

การเป็นคนติดดิน และมี “กึ๋น” ของ “แมร์เคิล” ดังกล่าว ได้เสริมสร้างให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในดวงใจของชาวเยอรมันจำนวนมาก...

ด้วยเหตุผลดังนี้ ผู้เขียนจึงฟันธงว่า เธอจะได้รับชัยชนะ ครองอำนาจอยู่ต่ออีกอย่างแน่นอน

ท้ายนี้ ผู้เขียนจึงฝากความหวังไว้กับ “ลุงตู่” นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ที่มี agreat aim อยู่แล้ว จงได้ยึดถือภาษิตของโกเตอร์ที่ว่า... “สิ่งสำคัญของชีวิต (ผู้นำ) คือ การผลักดันความตั้งใจจริงอันยิ่งใหญ่ ให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่วางไว้ให้จงได้”

ส่วนการสร้างความรักสามัคคีของคนในชาตินั้น... “Emerson” ได้เคยกล่าวว่า “Trust men, and they will be true to you; trust them greatly and they will show themselves great.”

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยจะเป็น “ฮีโร่” ในดวงใจของประชาชนชาวไทยจำนวนมาก และดังขจรระดับโลกเยี่ยง “แมร์เคิล” บ้าง...มิได้หรือ?!
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3-6 ก.ย. 2560

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว