ลด‘เสี่ยงโชค’แก้ปัญหาสุขภาพ เครื่องดื่มขานรับภาษีใหม่

06 ก.ย. 2560 | 11:14 น.
การประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2560 ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กันยายน 2560 แน่นอนว่าหลังจากนี้ไปจนถึงวันที่พ.ร.บ.มีผลบังคบใช้จริงประชาชนจะได้เห็นกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในตลาดเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ออกมาขยับปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งประเด็นสำคัญนอกจากจะเป็นการรับมือกับอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่แล้ว อีกหนึ่งนัยสำคัญคือการทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านราคาทางอ้อม

-ลดดีกรีสอดรับเทรนด์โลก
นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ “ไฮเนเก้น” เปิดเผยว่าการที่ผู้ผลิตบางรายในตลาดหันมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูตรใหม่ด้วยกาปรับลดปริมาณดีกรีของสินค้าลงเพื่อป้องกันปัญหาภาษีที่อาจจะสูงเกินไปนั้น มองว่าเป็นเรื่องของ 2 ส่วนหลักในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน ได้แก่ 1.เรื่องของเทรนด์โลกที่หันไปใส่ใจสุขภาพมากขึ้น กลุ่มนักดื่มรุ่นใหม่นิยมดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณดีกรีน้อยลงเน้นดื่มเพื่อสังสรรค์และเข้าสังคมมากกว่าแตกต่างจากอดีตที่เน้นดื่มแล้วเมา 2.เรื่องของอานิสงส์ที่ได้รับจากมาตรการภาษี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการหลายรายเริ่มผลิตเบียร์ที่มีปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 4% ในช่วงที่ผ่านมา จากอดีต 6% เข้ามาทำตลาดเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยที่ยังเป็นกังวลในตลาดเบียร์อยู่คือเรื่องของการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีเบียร์สด ที่ยังไม่มีราคาขายปลีกแนะนำที่ชัดเจน เนื่องจากราคาจะแตกต่างกันออกไปตามร้านหรือโลเกชันที่จำหน่าย ทำให้มองว่าต้องมีการกำหนดโครงสร้างตรงนี้ออกมาอย่างชัดเจนในการจัดเก็บภาษี

AP1_5513 -หวั่นชิ่งหาเครื่องดื่มเถื่อน
นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหารและโฆษก สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และผู้อำนวยการสายงานรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์ เผยถึงความพร้อมในส่วนของสมาคมสำหรับมาตรการภาษีความหวานครั้งนี้ว่ากลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์มีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงรออัตราภาษีและวิธีปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ก็อยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว จะมีตัวที่เข้ามาใหม่คือเรื่องภาษีสุขภาพและภาษีความหวาน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับทางกรม ผู้ประกอบการเครื่องดื่มทุกชนิด และประชาชน ที่จะต้องเริ่มใช้พร้อมกันและไม่เป็นการผลักภาระไปยังผู้บริโภคให้มากที่สุด ขณะเดียวกันในตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปัจจุบันยังมีอีกหลายกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีอัตราใหม่และภาษีความหวานที่มีเข้ามาเพิ่ม อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปดื่มเครื่องดื่มที่ไม่อยู่ในระบบที่มีการจัดเก็บภาษีแทน ซึ่งตรงนี้เองภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขและป้องกันออกมา

สำหรับการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ทางสมาคมให้การสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งมองว่าประเด็นสำคัญจะต้องไม่เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคมีความโปร่งใสชัดเจนนอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการมองว่าจะต้องมีการปรับตัวในแง่ต่างๆ ทั้งในส่วนของกลยุทธ์การทำตลาด การปรับสูตร รวมไปถึงสินค้าใหม่ๆ ขณะที่ภาครัฐก็ควรให้เวลาในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็น การลดขั้นตอนการจดแจ้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากขึ้น,มีระยะเวลาให้อุตสาหกรรมปรับตัวโดยกำหนดอัตราภาษีความหวานแบบก้าวหน้าในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป,ส่งเสริมให้ประชาชนลดการบริโภคนํ้าตาล, โดยจะต้องลดการตัดสินจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ได้มากที่สุด

MP34-3293-1 พร้อมกันนี้ยังมีการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทเครื่องดื่มข้ามชาติ (Thai Pledge) ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในการไม่ทำการตลาดและโฆษณาให้เด็กที่มีอายุตํ่ากว่า12 ปีควบคู่กับการกำหนดจุดขายเครื่องดื่มที่ได้รับสัญลักษณ์ฉลากสุขภาพให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่มีการวางจำหน่ายอยู่ 10% ในร้านค้ากว่า5แสนร้านค้าทั่วประเทศ

-ปรับแก้ ลดดีมานด์เทียม
นายประจวบ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังต้องมีการทำการตลาดอย่างรับผิดชอบไม่มีการทำแคมเปญสร้างดีมานด์เทียมอย่างที่ผ่านมาซึ่งเบื้องต้นทางภาครัฐได้มีการเตรียมปรับแก้กฎหมายการพนันหรือกฎหมายเสี่ยงโชค ที่มีการกระหนํ่าจัดแคมเปญในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ 1.นํ้าอัดลม โซดา 2.เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มให้พลังงาน เกลือแร่ นํ้าดื่ม3.นํ้าพืชผักผลไม้ ชากาแฟ พร้อมดื่ม นมถั่วเหลือง เป็นต้น โดยสมาคมวางเป้าหมาย5ปีข้างหน้า ในการปรับสัดส่วนสินค้าที่มีฉลากสุขภาพเพิ่มเป็น 126รายการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 44 รายการ,กลุ่มสินค้าที่มีการปรับสูตรลดปริมาณนํ้าตาลเป็น 81 รายการ จากปัจจุบัน 19 รายการ,กลุ่มสินค้าไม่มีแคลอรี (Zero Calorie) เป็น 14 รายการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 9 รายการ

ทั้งนี้“ฐานเศรษฐกิจ” จะจัดการสัมมนาในหัวข้อ“ภาษีสรรพสามิตใหม่ ใครได้ ใครเสีย” ขึ้นในวันที่ 7 กันยายนนี้ ณ ห้องจูปิเตอร์ชั้น 3โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายอภิศักดิ์ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมปาฐกถาพิเศษ พร้อมช่วงเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560