Panasonic Kids Witness News 2017เยาวชนฉลาดคิดเรียนรู้เทคนิคสร้างสรรค์คลิปให้ปัง

04 ก.ย. 2560 | 09:03 น.
ความตั้งมั่นในการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถของตัวเอง ผ่านการสะท้อนให้ผู้ใหญ่รู้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างไร และถ่ายทอดผ่านประเด็นที่อยู่รายรอบพวกเขาได้อย่างไรคือแรงบันดาลใจสำคัญให้บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) ผลิตโครงการ “สร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าวกับพานาโซนิค ประจำปี 2560” (Panasonic Kids Witness News 2017) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับประถมและมัธยมศึกษา อายุระหว่าง 10-18 ปี ได้แสดงความสามารถในการผลิตคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ที่สะท้อนประเด็นต่างๆ ทางสังคมผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่

MP27-3293-1A สำหรับในปีนี้ตั้งแต่เปิดรับสมัคร มีเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 82 ทีม คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกทีมที่มีผลงานโดดเด่น 16 ทีม เข้าค่ายพัฒนาผลงาน (Workshop) ก่อนนำความรู้ที่ได้ไปผลิตชิ้นงานสำหรับการแข่งขันในรอบที่ 2 และสำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จะต้องนำเสนอภายใต้แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การสื่อสาร หรือกีฬา ซึ่งน้องๆ จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใดก็ได้ ผู้ชนะการแข่งขันในระดับประเทศ จะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติต่อไป

MP27-3293-4A เพื่อให้เยาวชนสามารถใช้เครื่องมือผนวกกับการตีโจทย์การสื่อสารได้อย่างถูกต้อง การเข้าค่ายเพื่อเตรียมความพร้อมนี้จึงไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชน แต่ยังมุ่งพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างรอบด้าน เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็นเพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การเล่าเรื่องให้น่าสนใจ รวมไปถึงเทคนิคการใช้กล้อง โดยนอกจากจะได้ความรู้ด้านทฤษฎีจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิเทศศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสื่อสารมวลชนแล้ว ยังได้ไปศึกษาดูงานกระบวนการถ่ายทำรายการข่าว ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รวมถึงได้ทดลองใช้กล้อง Panasonic Lumix G Series ซึ่งถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ในการสร้างสรรค์ผลงานจริงๆ ด้วย

MP27-3293-2A “การทำสื่อไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ต้องคิดพิจารณาด้วยว่าในเรื่องราวนั้นๆ เราจะหยิบแง่มุมใดมาเล่า และจะถ่ายทอดอย่างไรให้น่าสนใจ จุดหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างจังหวะในการเล่าเรื่อง เทคนิคคือต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดึงดูดความสนใจ ระหว่างทางต้องเห็นพัฒนาการของเรื่องราว ที่สำคัญคือจะจบเรื่องอย่างไรให้คนดูเกิดความจับใจและจดจำ”, ผศ.ดร.ลักษณา คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ด้าน ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับชื่อดัง เผยเคล็ดลับการเป็นนักเล่าเรื่องว่า นักเล่าเรื่องที่ดี ไม่ได้อยู่ที่สาระของเรื่องที่เขาเล่า แต่นักเล่าเรื่องที่ดี คือคนที่ทำให้คนดูรู้สึก “สนุก” ได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีสาระหรือไม่ บางเรื่องมีสาระมากแต่เล่าไม่สนุก คนก็ไม่สนใจ ทำให้การสื่อสารไม่ได้ผล คำว่าสนุกในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่เสียงหัวเราะเท่านั้น แต่ความสนุกคือ “ทุกอารมณ์” หนังที่สนุกคือหนังที่ทำให้คนดูเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องตื่นเต้น ตลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเศร้า

MP27-3293-3A ความมุ่งมั่นที่ได้รับการส่งเสริมด้วยการลองปฏิบัติผ่าน “ของจริง” ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเมื่อหัวใจ “รัก” และพร้อมเดินหน้าต่อเพื่อทำฝันให้เป็นจริง จากรอยยิ้มของน้องๆ เยาวชนเชื่อแน่ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยคงจะมีนักเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์แต่งแต้มสังคมไทยให้น่าอยู่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560

e-book-1-503x62