สร้างคนด้วยปรัชญา ปรุงแต่งที่ว่างด้วยประสบการณ์

03 ก.ย. 2560 | 08:45 น.
“สำหรับผมงานภูมิสถาปัตยกรรมคือการออกแบบสิ่งที่เรียกว่า “Space” ไม่ใช่สวน ไม่ใช้น้ำพุ หรือน้ำตก แต่เราออกแบบประสบการณ์ของคนที่จะมาใช้ที่ว่าง ณ จุดนี้ โดยการใช้ “ดิน” (Terrains) “ที่ว่าง” (Open Space) ต้นไม้และองค์ประกอบอื่นๆ เป็นสื่อให้เกิดประสบการณ์นั้น พื้นที่ทำงานที่มีเพดานคือท้องฟ้า และพื้นที่ลึกลงไปถึงชั้นหินระดับต่างๆ การบริหารจัดการจึงไม่เฉพาะเพียงการคำนึงถึงความสวยงาม แต่คือความคงทนแข็งแรงและความยั่งยืนของทุกชิ้นงานที่เรารังสรรค์ขึ้น”

ชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งที่ก้าวสู่เส้นทางการเป็น “ภูมิสถาปนิก” แบบไม่ได้ตั้งใจ สู่การทำงานในสตูดิโอระดับโลก และสร้างฝันของตัวเองจนสำเร็จกับการเปิดบริษัทของตนเองภายใต้ชื่อ TROP ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Terrains + Open Space การออกแบบพื้นที่สากลอย่างผืนดินและที่ว่างให้หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับงานสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้าง และชื่อของ “คุณป๊อก-อรรถพร คบคงสันติ” ได้สร้างชื่อให้เป็นที่จดจำอีกครั้งกับการเป็นผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมให้กับคอนโดมิเนียมที่ครองความลักชัวรีสูงสุดบนถนนวิทยุ “98 Wireless”

“ผมเป็นลูกสุดท้อง เป็นลูกคนที่ 7 ในครอบครัวคนธรรมดา คุณพ่อผมไม่ได้เรียนหนังสือด้วยซ้ำ” หมุดเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นในครอบครัวที่ประกอบอาชีพค้าขายของเก่าในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ด้วยการมองการณ์ไกลของคุณพ่อจึงส่งให้ลูกๆ ทั้ง 7 เข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานครและการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองเป็นครั้งแรกตอนเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลีกหนีวิธีคิดแบบเดิมของเด็กห้องคิง เลือกลองสนามสอบด้วยการเอนทรานซ์เข้าคณะภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะความรักในการวาดรูป และเด็กชายอายุ 16 ที่สอบติดเป็นคนสุดท้ายของคณะ ได้ก้าวสู่วิถีการเป็นภูมิสถาปนิกอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“เราต้องเจอ Instant Pressure ให้เป็นนิสัย ภูมิสถาปนิกไม่ใช่อาชีพที่มีทางลัด การจะเป็นภูมิสถาปนิกที่เก่งได้ต้องใช้ประสบการณ์ ต้องทำงานหนัก งานออกแบบที่เราทำต้องไม่เหมือนเมื่อวาน เป็นแรงกดดันที่เราต้องเจอตลอดชีวิต เพื่อสร้างสิ่งใหม่ สร้างงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์บริบท การเปลี่ยนแปลง และรสนิยม ตลอดเวลา”

“หากเราไม่มีประสบการณ์เราจะไปสอนใครได้” การเริ่มต้นชีวิตนิสิตจบใหม่ด้วยการทำงานเป็นผู้ช่วยสอนในคณะ แต่ด้วยอายุที่ยังไม่ต่างจากน้องๆ ในชั้นเรียนมากนักและยังไม่มีประสบการณ์ คุณป๊อกจึงเลือกที่จะลาออกหลังจากสอนได้เพียง 1 ภาคการศึกษา ไปทำงานบริษัทออกแบบรีสอร์ต แม้ว่าจะมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ไม่เพียงเพราะความรู้สึกชอบและหลงใหลงานภูมิสถาปัตยกรรมแต่ยังได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ในคณะที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard University ได้ หลังจากทำงานเก็บเงินได้ 2 ปี ก็ถึงวันที่คุณป๊อกได้เดินบนทางที่ตั้งเป้าหมายไว้ กับการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรม “Master of Landscape Architecture in Urban Design, with Distinction in Advanced Drawing: Harvard University, Graduate School of Design, Cambridge, MA USA.,”

ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่คุณป๊อกบอกกับเราว่าอยู่ในขั้น “ห่วยมาก” ตอนขึ้นเครื่องบินยังต้องท่องว่าจะสั่งอาหารกับพนักงานต้อนรับอย่างไรบ้าง และแล้ววันแห่งกาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งก็มาถึง การนำเสนอผลงานในชั้นเรียนครั้งแรก การตระหนักรู้ว่าการพูดเป็นปัญหาในการสื่อสาร จึงเน้นการทำงานให้มาก ให้ละเอียด งานที่ถูกร่างขึ้นจากองค์ความรู้และความสามารถส่วนตัวบนสามบอร์ดใหญ่ กับนำเสนอเพียง 10 นาที เทียบกับเพื่อนในชั้นเรียนซึ่งนำเสนอประมาณ 30 นาที ทำให้นักศึกษาชาวเอเชียที่พูดภาษาอังกฤษผิดๆ ถูกๆ ได้รับความสนใจจากเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ จนกล่าวได้ว่า “ผลงาน” คือเครื่องมือประกาศตัวตนของ “Mr.Pok” อย่างแท้จริง

MP25-3293-2 “การเรียนในต่างประเทศทำให้เราต้องกระตุ้นตัวเองเหมือนวิ่งอยู่ในสนามแข่งตลอดเวลาใน Harvard Studio ซึ่งเป็นอาคารกระจกทรงสามเหลี่ยมลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ นักเรียนทุกคนจะมีโต๊ะทำงานของตนเอง ผมเลือกนั่งบริเวณเทรย์ด้านบน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องสัมผัสอากาศเย็นมากกว่าบริเวณอื่น แต่ก็เป็นจุดที่มองเห็นโต๊ะทำงานของเพื่อนเกือบทุกคน เวลาที่ผมมองลงไปแล้วเห็นว่ายังมีคนทำงานอยู่แม้เข็มนาฬิกาจะเลยเวลาเที่ยงคืนแล้ว มันทำให้ผมไม่อยากกลับบ้านไปนอน แต่กลับกระตุ้นให้ต้องทำต่อไม่ใช่แค่แข่งกับเพื่อนในสตูดิโอเดียวกันแต่เพื่อแข่งกับคนทั้งโรงเรียน ผมฝึกภาษาด้วยการเป็นผู้ช่วยสอน และทำงานในห้องสมุดได้อ่าน ได้เห็นตำราที่เก่าแก่ที่สุดและทันสมัยที่สุด ที่สำคัญเมื่อ 20 ปีก่อนเราไม่สามารถหาแหล่งอ้างผ่านอินเตอร์เน็ตได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ เราไม่ใช่แค่ต้องเก็บเล็ก ผสมน้อย แต่ต้องคิดให้เยอะที่สุด เพราะไม่มีอะไรให้ดู”

ความชื่นชอบงานศิลปะที่ไม่จำกัดขอบเขตเพียงงานด้านสถาปัตยกรรม แต่ยังรวมถึงงานออกแบบเครื่องประดับ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ และงานศิลปะที่คุณป๊อกหลงใหลมากที่สุดจนเป็นหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานคือ “ศิลปะบนจานอาหาร”

“คนทั่วไปมักจะพูดกันว่าการทำงานต้องมี “Passion” คือความหลงใหลในการทำบางอย่างมากๆ ผมมีไอดอลของผมคนหนึ่งชื่อ “Thomas Keller” เชฟอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่ความสามารถในการทำอาหารที่ทำให้ส่วนผสมต่างๆ แปรสภาพเกิดเป็นอาหารจานใหม่อย่างไร้ที่ติ แต่คือแนวคิดในการเลือกทีมเชฟ สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ Passion แต่คือ “Desire” ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ว่าเชฟแต่ละคนจะได้รับมอบหมายเมนูอะไร ต่อให้วันนั้นต้องทำอาหารเมนูนั้นเป็นร้อยเป็นพันจานทุกจานก็จะเป็นจานที่ดีที่สุด”

ไม่เฉพาะแค่แนวคิดเท่านั้น แต่เมนูที่ถูกตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายของ Mr.Thomas Keller ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดของวัตถุดิบและวิธีการทำที่ซับซ้อน เกิดเป็นอาหารในรูปแบบ Luxury Version เช่นเดียวกับวิธีการออกแบบของ TROP กับการมีเพียงดินและที่ว่าง ก็สามารถรังสรรค์ประสบการณ์การใช้พื้นที่ผ่านการออกแบบที่ละเมียดละไมในแบบ Sophisticated Version ที่หลอมรวมทุกองค์ประกอบไว้เป็นหนึ่งเดียว

[caption id="attachment_201977" align="aligncenter" width="503"] อรรถพร คบคงสันติ อรรถพร คบคงสันติ[/caption]

“ตอนเรียนผมนั่งทานข้าวกล่อง และชอบดูเชฟทำอาหารผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปด้วย ทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นอาหารเมนูต่างๆ ที่สร้างขึ้นจากวัตถุดิบง่ายๆ ใกล้ตัว จนเป็นความหลงใหลและความชอบทานอาหารมาจนถึงทุกวันนี้” เพราะความสุขในการได้เห็นงานศิลปะบนจานอาหารนี้เอง ทำให้คุณป๊อกไม่ใช่เพียงแค่ผู้รับประทานแต่ยังเป็นผู้ศึกษาเรื่องราวของเชฟแต่ละคนอย่างจริงจัง รวมถึงการสืบค้นหาข้อมูลของแหล่งทานอาหารใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์และสะท้อนความโดดเด่นของการเป็นอาหารในชุมชนนั้น ในเมืองนั้น หรือในประเทศนั้นๆ ได้อย่างลงตัวและไม่สามารถหาทานที่ไหนได้อีก ทุกวันนี้การเดินทางเพื่อไปตรวจงานและทำงานทั้งในและต่างประเทศ สิ่งที่คุณป๊อกมีความสุขคู่ขนานกับงานที่ทำคือ การสืบเสาะหาร้านที่จะได้ไปลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ ปลุกชีวิตให้สุขสดชื่นในทุกๆ ครั้ง

“การเป็นภูมิสถาปนิกคู่ต่อสู้ที่แท้จริงของเราคือ บริบทและสภาพแวดล้อม ในพื้นที่ซึ่งมีบริบททุกอย่างเหมือนกัน เราจะต้องทำอย่างไรให้งานของเราแตกต่าง เราต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย ไม่มีสูตรสำเร็จ ปลุกให้จินตนาการลุกขึ้นมาทำงาน แต่จินตนาการอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องมีพื้นฐานที่เรียกว่า “ประสบการณ์” เป็นฐานข้อมูลที่จะทำให้จินตนาการนั้นเกิดขึ้นจริงได้”

ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสทำงานในสตูดิโอระดับโลกของ George Hargreaves หัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชื่อที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณป๊อกตั้งแต่งานวิทยานิพนธ์ชิ้นจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีของ เรื่อง “Paknam Po Waterfront Park” ที่สร้างความท้าทายให้กับตนเองด้วยการใช้พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีการบรรจบกันของแม่น้ำหลายสายมาออกแบบ งานที่ถูกอาจารย์บอกว่าไม่มีความเป็นไทย แต่กลับดูเป็นงานเมืองนอก เหมือนกันงานของ George Hargreaves ตอนนั้นเองที่ทำให้คุณป๊อกเริ่มสืบค้นว่าชื่อนี้คือใคร และสุดท้ายคนที่คุณป๊อกเลือกให้เป็นเจ้านายคนแรกหลังเรียนจบปริญญาโทก็คือ George Hargreaves นั่นเอง

การได้เห็นวิธีการทำงานและพลังของการสร้างคน สร้างทีมงานที่มีคุณภาพของสตูดิโอระดับโลก วันนี้คุณป๊อกจึงไม่หยุดเพียงแค่การทำให้ TROP สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งผ่านการฝากผลงานทั้งในเมืองไทยและในระดับโลก แต่คือการสร้างหุ้นส่วนธุรกิจ (Business Partner) ในอนาคต ด้วยตนเอง

วันนี้ผมยังไม่มีพาร์ตเนอร์ แต่ผมจะสร้างพาร์ตเนอร์ด้วยตัวของผมเอง ผมจะไม่หยุด TROP เพียงแค่การเป็นบริษัทออกแบบภูมิทัศน์ แต่ผมสร้างให้ที่นี่เป็นสตูดิโอที่รวมคนที่มีวิธีคิดเดียวกัน ที่ซึ่งทุกคนไม่ต้องออกแบบเหมือนกัน แต่เดินหน้าภายใต้หลักปรัชญาเดียวกัน นั่นคือความยั่งยืนขององค์กรที่เราเริ่มต้นสร้างได้ด้วยตัวของเราเอง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560