เอกชนกระอัก! พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ่นพิษ ‘โรงพยาบาล-ถนน-ก่อสร้าง’ ติดแหงก

01 ก.ย. 2560 | 05:06 น.
พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ที่บังคับใช้ 23 ส.ค.พ่นพิษ ฉุดโครงการใหม่รัฐ-เอกชนชะงักทั่วประเทศ กลุ่มโรงพยาบาลรัฐ การจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ รับเหมาก่อสร้าง ถนนหลวงและสาธารณูปโภค กระทบหนัก
นักธุรกิจเอกชนยอมรับสะดุด

หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญกับการปราบคอร์รัปชัน จึงมีดำริแก้ปัญหาการทุจริตภาครัฐว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ที่แต่ละปีมีงบประมาณนับล้านล้านบาท ด้วยการปฏิรูประเบียบการจัดซื้อจัดจ้างจากเดิมให้อำนาจแต่ละหน่วยงานไปดำเนินการเอง เป็นรวมศูนย์ที่เดียวภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน กำลังส่งผลกระทบในวงกว้าง

ข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้จากนี้ไปการจัดซื้อทุกชนิดจะต้องดำเนินการภายใต้คณะกรรมการ 5 ชุด ที่ประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานราชการและเอกชนรวม 15-20 คน มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกชุดจะมีตัวแทนของกระทรวงการคลัง เป็นประธานกำกับดูแล มีความกังวลว่าโครงสร้างอำนาจดังกล่าวอาจเป็นปัญหาเกิดความล่าช้ายิ่งกว่าเดิม เพราะเป็นการกระจุกอำนาจในหน่วยงานเดียว

**ร.พ.-มหา’ลัยป่วนหนัก
ข้อมูล 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปี 2560 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างรวม 1.46 ล้านโครงการ มูลค่า 6.05 แสนล้านบาท ยังเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการเดิม ส่วนโครงการใหม่ตามงบประมาณปี 2561 ต้องยึดตาม พ.ร.บ.ใหม่เท่านั้น
กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ เรียงลำดับความรุนแรง ประกอบด้วย กลุ่มแรก โรงพยาบาลรัฐ การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะถนนหลวง สาธารณูปโภค

ก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลรัฐ 13 แห่ง เห็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อโรงพยาบาลรัฐโดยตรง รวมทั้งมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลทั้งหมด

รายงานข่าวจากการประชุมบอร์ดจัดซื้อจัดจ้างที่กระทรวงการคลังเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน เป็นการซักซ้อมความเข้าใจและวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับรัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ที่ได้รับการยกเว้น 90 วัน หากเป็นเพื่อการพาณิชย์

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่าได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนทุกส่วน ก่อนจะใช้กฎหมายนี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้โครงการต่างๆชะงัก

P1-3292-a **ผู้รับเหมาชะงัก
จากการสำรวจผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ประเมินว่า พ.ร.บ.
ดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้การประมูลงานรับเหมาก่อสร้างต้องชะงักอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในระยะแรก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีใครกล้าตัดสินใจขอรอความ ชัดเจนก่อน จากเดิมที่พลาดก็จะผิดแค่วินัย แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าทำไปจะถูกหรือผิด แนวโน้มถ้าผิดพลาดอาจเจอคดีอาญาติดคุกได้

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำว่าพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ควรจะนำไปใช้กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ให้สำเร็จก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาใช้กับโครงการขนาดกลางและขนาดย่อยลงมา

รัฐบาลไม่ควรใช้รูปแบบเหมาเข่ง เพราะหากมีผลกระทบจะเกิดในวงกว้างที่จะส่งผลให้โครงการล่าช้าจากกระบวนการในภาคปฏิบัติ โครงการปีนี้อาจไม่มีผลเพราะประมูลไปหมดแล้ว แต่ยังมีลุ้นโครงการตามงบประมาณปี 2561 ที่จะเริ่มให้มีการเซ็นสัญญารายย่อยตั้งแต่ตุลาคมนี้ ประเมินว่าจากที่ช่วงก่อนเกิดกรณีมาตรการด้านแรงงานต่างด้าวเผ่นหนีกลับประเทศมาแล้ว มาเจอกฎหมายฉบับนี้อีก ส่งผลให้นโยบายภาครัฐที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจสะดุดในช่วงครึ่งปีหลัง อาจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่รัฐต้องการ

“ประการสำคัญยังมองไม่เห็นว่ากรมบัญชีกลางจะดำเนินการในภาคปฏิบัติให้เกิดความรวดเร็วได้อย่างไร เจ้าหน้าที่มีเพียงพอหรือไม่เพราะขณะนี้แต่ละวันจะพบว่ามีรายการประมูลจำนวนมากต่อไปจะล่าช้าหรือไม่ และคิดว่ากรณีนี้จะมีผลกระทบซํ้าเศรษฐกิจให้ตกตํ่าลงไปอีก”

ด้านนายคะแนน สุภา ประธานกรรมการบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบน่าจะเกิดความยุ่งยากขึ้นในกระบวนการ เพราะกรมบัญชีกลางคงไม่มีประสบการณ์สู้แต่ละหน่วยงานไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเชิญผู้แทนแต่ละหน่วยเข้าไปเป็นคณะกรรมการ จึงมองว่ากรมบัญชีกลางรวบหัวรวบหางกระบวนการไปดำเนินการเองทั้งหมดวิธีการตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างไม่ช่วยให้โครงการรวดเร็วแต่น่าจะทำให้กระบวนการล่าช้ามากกว่า

“รัฐบาลควรไปหาวิธีแก้ไขในระดับ 5 เสือบริษัทชั้นนำในวงการก่อสร้างให้ได้เสียก่อนเพราะขณะนี้บริษัทรายกลางรายย่อยได้รับผลกระทบจากการรับงานภาครัฐได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเนื่องจากสู้รายใหญ่ไม่ได้” นายคะแนนกล่าว

**บิ๊กเอสซีจีรับสะดุด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศติดลบ 7% ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังคาดการณ์ว่าตลาดปูนซีเมนต์น่าจะดีขึ้น เพราะคิดว่าภาครัฐบาลเองก็พยายามเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ แต่เห็นประเด็นเหมือนกันว่าไม่ง่าย เพราะกฎระเบียบ ขั้นตอนในการอนุมัติมาก บางทีมีงบประมาณแล้วแต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หรือโครงการใหญ่ๆก็มีการตรวจสอบเข้มข้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะทำให้โครงการช้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292
วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560