รัฐเดินหน้าผลักดัน ‘ดาต้า เซ็นเตอร์’

02 ก.ย. 2560 | 01:20 น.
ฐานข้อมูลภาครัฐ หรือ Data Center เป็นอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อยกระดับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายให้หน่วยงานภาครัฐเอกชน สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพและทันสมัย

นั่นจึงเป็นที่มาที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวในรายการ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำนโยบาย ดาต้า เซ็นเตอร์ มาถ่ายทอดลงในบรรทัดถัดจากนี้

++ทุ่ม 30 ล.พัฒนาระบบ
สำหรับ “ฐานข้อมูลภาครัฐ” ที่เรียกว่า Data Center สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ สามารถจะนำไปวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ได้ในลักษณะ “Big Data” จากผลการประชุมวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือ “IOE Forum” ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการบูรณาการแนวคิดของภาครัฐและภาคเอกชน ในการที่จะกำหนดนโยบายให้เป็นรูปธรรมให้ได้ทั้งระบบ โดยในปี 2560 นี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบ “Big Data” ใน 3 ด้าน (ดูตารางประกอบ)

++วอนพลังประชารัฐร่วมมือ
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับ อาจจะประเมินค่าทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่จะก่อให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขัน และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย “พลังประชารัฐ” ที่เป็นการทำงาน ความร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ตั้งแต่ขั้นการกำหนดทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นต้นไป ตัวอย่าง บทเรียนในอดีต ประเทศไทยใช้ศักยภาพในการผลิตเพียง 70% ของขีดความสามารถจริงได้เท่านั้น

MP20-3292-1A สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่สามารถเข้าถึง เข้าใช้ “ข้อมูล” ได้เท่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การวิเคราะห์ข้อมูล ขาดความแม่นยำ การพยากรณ์ แนวโน้มในอนาคต คลาดเคลื่อน ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึง การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ SMEs + Start up ทำได้ยาก เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับเศรษฐกิจ หรือ นำไปสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ทั้งๆ ที่การใช้เทคโนโลยี Big Data จะเป็นเครื่องมือหลัก ในอนาคตอันใกล้นี้ ในการช่วยสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ทั้งในภาคการเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวและบริการ

++ดัน GDP โต 8.4 หมื่นล.
นอกจากนี้แล้วผลงานวิจัยของ TDRI หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า “เศรษฐกิจในยุคใหม่” จะใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ โดยการนำข้อมูลมาประมวลผลตามแนวทาง Big Data นั้น “เพียงแค่ 1 ใน 5” ของภาคเกษตร-อุตสาหกรรม- และบริการก็จะสามารถทำให้ GDP (Gross domestic product: ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) โตขึ้น 0.82% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 84,000 ล้านบาท ดังนั้น ความต้องการแรงงานทักษะในตลาดแรงงาน “ยุคต่อไป” หรือ อาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เพียง “นักสถิติ นักวิเคราะห์” ธรรมดาทั่วไป แต่ต้องเป็น “นักวิเคราะห์ Big Data” ซึ่ง ปัจจุบัน ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาใดในประเทศไทยที่เปิดการเรียน การสอนโดยเฉพาะ

25877 “แต่เราต้องเริ่มแล้ว ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันใช้งานในวันข้างหน้า โดยการศึกษาที่เป็นพื้นฐานที่รัฐบาลนี้ได้ผลักดันอย่างเต็มที่แล้ว ก็คือ STEM ศึกษานั่นเอง”

และทั้งหมด คือ แผนผลักดันนโยบาย “ดาต้า เซ็นเตอร์” ที่รัฐบาลพยายามบูรณาการและผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยการนำข้อ มูลมาประมวลผล เพียงแค่ 1 ใน 5 ของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ สามารถทำให้ GDP เติบโตขึ้น 0.82 % คิดเป็นมูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292
วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560 e-book