สินเชื่อSMEเจอปัญหาเพียบ ธพว.ชี้2กลุ่มเสี่ยงNPLพุ่ง-ธปท.แนะต้องดูแลให้ตรงจุด

02 ก.ย. 2560 | 11:11 น.
ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงเอสเอ็มอีโดนผลกระทบการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ชี้ต้องหาทางช่วยเหลือให้ถูกกลุ่มตามปัญหา ด้าน ธพว. รับกลุ่มได้รับสินเชื่อปี 55-57 เริ่มมีปัญหาจากการขาดความสามารถทางการแข่งขัน ขณะที่กลุ่มปี 53-54 อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องกว่า 2.5 พันล้านบาท ยัน NPL ควบคุมได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2560 โดยระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคพาณิชย์และบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ NPL ของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในภาพรวมเริ่มปรับลดลงจากธุรกิจขนาดกลาง

ต่อเรื่องดังกล่าวนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะต้องแยกกลุ่มเอสเอ็มอีออกเป็นกลุ่มให้ชัดเจน โดยกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่มีศักยภาพก็จะต้องเข้าไปดูแล และช่วยเหลือ หรือหากไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ก็จะต้องดูว่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือได้อย่างไร ขณะที่หากถูกผลกระทบจากค่าเงินก็จะต้องส่งเสริมให้มีการป้องกันความเสี่ยง

“ต้องเรียนว่า NPL ในภาพรวมถือว่า ยังทรงตัวในระดับคงที่ เพียงแต่จะต้องเข้าไปช่วยกันดูแล โดยปัจจัยที่มาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะต้องเข้าไปดูแลว่าจะปรับธุรกิจอย่างไร ซึ่งการสนับสนุนทางด้านของสินเชื่อเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ เพราะคงไม่ใช่วิธีการที่จะช่วยทำให้แข่งขันได้ในตลาด เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องดูแลให้ถูกกลุ่ม ดูว่าจะต้องช่วยแบบไหน ทางด้านการเงิน หรือจะต้องส่งเสริมทางด้านศักยภาพ”

[caption id="attachment_201115" align="aligncenter" width="444"] มงคล ลีลาธรรม มงคล ลีลาธรรม[/caption]

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) กล่าวว่า กลุ่มเอสเอ็มอีที่ ธพว. ปล่อยสินเชื่อออกไปและเริ่มมีปัญหา NPL ค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคือกลุ่มที่ได้รับสินเชื่อไปในปี 2555-2557 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของขาดความสามารถทางการแข่งขัน แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในเพดานการคํ้าประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

“กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหาคือกลุ่มที่ซื้อมาขายไป และภาคการผลิตประมาณ 70% ขณะที่ภาคการบริการไม่มีปัญหา เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีการเติบโตได้ดี ส่วนภาคก่อสร้างก็ยังดีอยู่”

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่กำลังมีปัญหาอย่างมากคือกลุ่มที่ ธพว.ปล่อยสินเชื่อให้ในปี 2553-2554 โดยเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเกินวงเงินการคํ้าประกันของ บสย. โดยขั้นตอนปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อนำสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันไปขายทอดตลาด และเข้าสู่กระบวน การบังคับชำระหนี้ หรือให้ไปเจรจาตกลงกันในชั้นศาล โดยมีมูลหนี้อยู่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งกว่า 90% สามารถเจรจาและตกลงกันได้ด้วยดี

“กลุ่มที่มีปัญหาดังกล่าวนี้ ธพว. ได้ดำเนินการช่วยเหลือ และผ่อนปรนให้จนสุดทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้การผ่อนปรนการชำระหนี้ แต่กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่หลักทรัพย์คํ้าประกันจึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่ก็ต้องใช้กระบวนการทางศาล เพื่อให้เกิดการบังคับชำระหนี้”

ขณะที่กลุ่มที่ ธพว. ปล่อยสินเชื่อให้ในปี 2558-2559 ยังไม่มีปัญหาเรื่องของ NPL โดย NPL ในภาพรวมของ ธพว. ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 17% และคาดว่าจะปรับลดลงเหลือ 16% ในช่วงสิ้นปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292
วันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2560