“มีชัย” ย้ำ "ยิ่งลักษณ์" ต้องมาฟังคำพิพากษาเองจึงได้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดี

28 ส.ค. 2560 | 11:18 น.
“มีชัย” ชี้คดีรับจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ต้องรอคำพิพากษา 27 ก.ย.นี้ก่อน หากกฎหมายลูกวิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมืองมีผลบังคับใช้ก่อนวันพิพากษา ต้องมาฟังคำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง หากหลบหนีไม่นับอายุความ

วันนี้ (28 ส.ค.2560) เว็บไซต์  www.radioparliament.net เผยแพร่ข่าว นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏตัวมารับฟังคำพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดถึงบทลงโทษ หรือระยะเวลาที่สามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้ เนื่องจากต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลในวันที่ 27 ก.ย. ก่อน ส่วนเรื่องอายุความของคดีก็ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะตัดสินอย่างไร แต่หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ประกาศใช้ คดีดังกล่าวก็จะไม่มีการนับอายุความ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง

ส่วนคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวกนั้น เป็นคดีที่ศาลมีคำตัดสินแล้ว นายบุญทรงจึงสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีได้โดยให้ทนายความเขียนคำอุทธรณ์ยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดว่าจำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ หากจำเลยไม่พอใจคำตัดสินของศาลและเห็นว่ามีช่องทางต่อสู้คดีก็สามารถขออุทธรณ์ได้ ส่วนจำเลยจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรวมถึงพฤติกรรมของจำเลยแต่ละคดี

599219121

นายมีชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายบุญทรงมีข้อเท็จจริงก็ต้องนำมาต่อสู้ แต่หากกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ก็จะไม่ได้สู้คดี ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานอยู่แล้ว ซึ่งหากทนายความของนายบุญทรงมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐาน ก็สามารถหยิบขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนข้อกังวลของข้าราชการประจำที่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งการของฝ่ายการเมือง แล้วไม่มีหลักฐานไปยืนยันความบริสุทธิ์ในศาลได้นั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดช่องให้สามารถทำบันทึกหรือแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ซึ่งในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... กรธ.จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตสามารถมีทางออกได้

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (28 ส.ค. 60) กรธ. ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. .... ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และ สนช.จะนำร่างกฎหมายดังกล่าวนำเข้าสู่วาระการประชุมและจะมีการพิจารณาวาระแรก ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดย กรธ. จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 3 คน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าวจะไม่มีปัญหาใดๆ