สนช.ประชุม 31 ส.ค.อนุมัติงบฯ 2.9 ล้านล. ด้านกมธ.แนะกลาโหมแจงเหตุซื้ออาวุธ

28 ส.ค. 2560 | 23:00 น.
ประชุมสนช. 31 ส.ค. เตรียมพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ยอดปรับเพิ่ม 6 รายการ 2.2 หมื่นล. เข้างบกลาง 2.1 หมื่นล. รัฐสภา 300 ล.เร่งสร้างอาคารแห่งใหม่ พร้อมแนะ กลาโหม แจงปชช.เหตุจำเป็นต้องซื้ออาวุธ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ได้พิจารณาแล้วเสร็จ

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการได้การปรับเพิ่มงบประมาณจำนวน 6 รายการจำนวน 22,163,095,000 บาท ประกอบด้วย 1งบกลาง ได้รับเพิ่มเติมจำนวน 21,257,187,600 บาท วัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการและไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ 2.หน่วยงานรัฐสภา ได้รับงบเพิ่ม 414,016,600 บาท แบ่งเป็น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 71,930,600 บาท เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 342,086,000 บาท เพื่อการก่อสร้างที่ทำการรัฐสภาแห่งใหม่และแก้ไขปัญหาอาคารสถานที่คับแคบไม่เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา

3.หน่วยงานของศาล คือ สำนักงานศาลปกครอง ได้รับเพิ่มเติม96,769,800 บาท เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอย่างรวดเร็ว เยียวยาความเดือดร้อนเสียหายได้อย่างเหมาะสม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรม 4.หน่วยงานอิสระของรัฐ 385,841,400 บาท แบ่งเป็น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 241,155,900 บาท สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 61,534,000 บาท สำนักงานอัยการสูงสุด 83,151,500 บาท 5.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน คือ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 7,689,600 บาท และ6.งบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1,590,000 บาท

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯยังได้จัดทำข้อสังเกต เกี่ยวกับภาพรวมการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย คือ การกำหนดเป้าหมายของกระทรวงและหน่วยงาน ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และนโยบายสำคัญของรัฐ โดยจัดลำดับความสำคัญของภารกิจที่จะดำเนินการตามความสามารถในการตอบสนองเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่วนหน่วยงานโดยเฉพาะองค์การมหาชนที่มีภารกิจ พันธกิจที่ซ้ำซ้อนกับส่วนราชการอื่นและไม่มีผลดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้แล้วขอให้พิจารณายุบเลิก เช่น องค์การมหาชนที่ดำเนินการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควรคัดเลือกเฉพาะหน่วยงานที่สามารถสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สัมมนา ควรเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับ ความเหมาะสมของจำนวนและคุณสมบัติผู้รับการอบรม ความประหยัด กรมประชาสัมพันธ์ ควรมีการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาช่องทางการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้รับทราบข่าวสารข้อมูลภาครัฐที่ถูกต้องและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการบิดเบือนข่าวสาร และประเด็นอ่อนไหวต่างๆรวมทั้งให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว โดยให้มีการดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้น ส่วนกระทรวงกลาโหม ควรประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงความจำเป็นว่าเพราะเหตุใดกองทัพจะต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งควรมีการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับภัยคุกคามไซเบอร์และมีการบูรณาการภารกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง