โดนถ้วนหน้า! เป้า 6 ปี รีดเต็มพิกัด ‘ภาษีนํ้าหวาน’

27 ส.ค. 2560 | 09:44 น.
คลังขีดเส้น 6 ปี จัดเก็บภาษีนํ้าหวานเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด เตือนผู้ประกอบการปรับตัวรับมือ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน2560 ในหลักการขณะนี้กำลังพิจารณากฎกระทรวงแนวทางและอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการรวมกฎหมายสรรพสามิตหลายฉบับอยู่ในฉบับเดียว ซึ่งเปลี่ยนอัตราการคิดภาษีเป็นราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมที่คำนวณราคาซีไอเอฟ ซึ่งจะมีราคาเพิ่มขึ้น ในส่วนที่เพิ่มขึ้นจะประกาศให้ภาษีที่ต้องเสียเท่าเดิม

[caption id="attachment_121409" align="aligncenter" width="503"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

“คนมีกำไรสุทธิเท่าเดิมก็ยังคงเสียภาษีเท่าเดิม ยกเว้นคนที่ไปตั้งกำไรสูงๆหรือบางคน Under Declareเพื่อคืนเงินภาษีสูงๆ กลุ่มนี้อาจจะกระทบ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเสียเท่าเดิม”

สำหรับโครงสร้างอัตราภาษีที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก คือ ภาษีรถยนต์ และภาษีเครื่องดื่มหรือภาษีนํ้าหวานที่มีการเปลี่ยนการจัดเก็บ คือ ภาษีเครื่องดื่มเดิมไม่เสียภาษีเลย แต่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่จะจัดเก็บภาษีฐานราคาและปริมาณนํ้าตาลรวมกันซึ่งเป็นไปตามสาธารณสุขและเอ็นจีโอเพื่อให้สุขภาพคนไทย โดยเสนอให้เก็บภาษีนํ้าตาลเพื่อบรรเทาปัญหาของผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงชาวไร่อ้อย (เกษตรกร) และให้เวลาปรับตัวถึง 6 ปีโดยอัตราภาษีจะค่อยๆทยอยขึ้นไปจนกระทั่งเป็นอัตราที่อยากจะเห็น

ขั้นตอนการปรับตัวแบ่งเป็น 3 ขั้นๆ ขั้นละ 2 ปี โดย 2 ปีแรกอัตราภาษียังอยู่ในระดับตํ่า ซึ่งอัตราที่ยังตํ่านั้นจะแบ่งตามระดับหรือปริมาณของนํ้าตาลด้วย คือ ปริมาณนํ้าตาลสูงจะเสียภาษีอัตราสูง, ปริมาณนํ้าตาลน้อยจะเสียภาษีน้อย เช่น ปริมาณนํ้าตาล 6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสีย เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560