MEอัดดอกเบี้ยสูง ดูดลูกค้าเข้าพอร์ต

27 ส.ค. 2560 | 12:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ME by TMB ตอกยํ้าเงินฝากดิจิตอลดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด ส่งแคมเปญ “ME is MORE-มากกว่าถ้าเป็น ME” เสนอดอกเบี้ย 4.5 เท่า หรือ 1.7% คาดโกยลูกค้าใหม่เข้าพอร์ต 2 เท่า สิ้นปีแตะ 3.25 แสนบัญชี

นางสาวรัชดา เสริมศิลปกุล ผู้อำนวยการตลาด ME by TMB เปิดเผยว่า ภาพรวมการแข่งขันเงินฝากเริ่มคึกคักมากขึ้น สถาบันการเงินในระบบเริ่มทยอยนำเสนอแคมเปญต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยยังถือว่าอยู่ในระดับตํ่า โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.38% ในขณะที่ ME ยังคงเน้นจุดเด่นในด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และเป็นบัญชีเงินฝากดิจิตอลที่มีสภาพคล่องสูง ลูกค้าสามารถฝากถอนได้ตามต้องการไม่มีกำหนดขั้นตํ่า สะดวกรวดเร็ว
ล่าสุดได้จัดแคมเปญ “ME is MORE-มากกว่าถ้าเป็น ME” ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4.5 เท่าของออมทรัพย์ทั่วไป หรือรับดอกเบี้ย 1.7% ต่อปี

[caption id="attachment_200354" align="aligncenter" width="503"] ME-by-TMB-1-534x427 รัชดา เสริมศิลปกุล ผู้อำนวยการตลาด ME by TMB[/caption]

จากจุดเด่นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ ME มีฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัว โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้า ณ เดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 3 แสนราย และมีฐานเงินฝากรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 แสนบาทต่อบัญชี ลดลงจากค่าเฉลี่ยนับจากที่เปิดตัว ME ในช่วงต้นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 แสนบาทต่อบัญชี เนื่องจากฐานบัญชีขยายมากขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยลดลงตามสัดส่วนบัญชีที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเป้าหมายปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 20% ในแง่ฐานบัญชีลูกค้า โดยปกติจะมีลูกค้าใหม่เฉลี่ย 1 หมื่นรายต่อเดือน คาดว่าภายหลังจากมีแคมเปญนี้จะกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีมากขึ้นเป็น 2 เท่า หรือประมาณ 2 หมื่นรายต่อเดือน คาดว่าภายในสิ้นปีฐานลูกค้าจะเพิ่มเป็น 3.25 แสนราย คิดเป็นบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวสมํ่าเสมอ ประมาณ 50%

ทั้งนี้ สัดส่วนฐานลูกค้าใหม่มากกว่า 80% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงานอายุเฉลี่ย 25-35 ปี และแบ่งเป็นลูกค้ากรุงเทพฯ ประมาณ 64% ที่เหลือ 36% ลูกค้าต่างจังหวัด

ขณะที่ปริมาณการทำธุรกรรมการเงิน จะพบว่า ME จะแตกต่างจากธนาคารทั้งระบบ เนื่องจาก ME เป็นดิจิตอลแบงกิ้ง ทำให้ช่องทางการทำธุรกรรมผ่านโมบายแอพพลิเคชันและอินเตอร์เน็ตยังคงเป็น 2 ช่องทางหลัก ที่มีอัตราการเติบโต 100% และมีลูกค้าประมาณเพียง 0.6% ที่เดินเข้าสาขาของ ME ที่มีอยู่เพียง 1 แห่ง เนื่องจากลูกค้าต้องการคุยกับพนักงาน และสอบถามการขอเอกสาร หรือผูกบัญชีเพิ่มเติม เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดว่าสัดส่วนการเดินเข้าสาขาจะปรับลดลงตามทิศทางดิจิตอล รวมถึงภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติการพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) ได้จะช่วยให้การเข้าสาขาน้อยลง ซึ่งปัจจุบัน ME ได้ยื่นขออนุญาตจากธปท.อยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560