‘เอสซีบี’ผุดแอพฯจตุจักรไกด์ ตั้งเป้าดึงหมื่นร้านค้าเข้าสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์ม

30 ส.ค. 2560 | 10:54 น.
แบงก์ไทยพาณิชย์ ปรับโมเดลธุรกิจดึงลูกค้าเอสเอ็มอีเข้า Digital Platform ผุด “Products of Chatuchak” ช่วยผู้ประกอบการ 1 หมื่นร้านค้าขายของคล่อง หวังเป็น Transaction Banking-ลดหนี้เสียทางอ้อม หลังสินเชื่อ 6 เดือนแรกทรงตัว 0-1%

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงทรงตัวไม่ได้เกินความคาดหมาย ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ยังคงเติบโตได้และกลุ่มที่ต้องประคอง โดยภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบน่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 6% สอดคล้องกับเป้าหมาย ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ตั้งเป้าอยู่ที่ 4-6% หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตสุทธิอยู่ที่ 1-2% จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านมา 6 เดือนแรก ธนาคาร สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตสุทธิเพียง 0-1% เนื่องจากก่อนหน้านี้มีอัตราการเติบโตติดลบ

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่มีสัญญาการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น จะเป็นกลุ่มเคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณการใช้วงเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น

P5-3291-a ซึ่งปัจจุบันมียอดขอวงเงินทุนหมุนเวียนแล้วกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท รวมถึงบางรายเริ่มทยอยการลงทุนใหม่ แต่ยังเป็นสัญญาณที่ยังไม่แข็งแรงมากนัก ดังนั้นยังคงเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อกลุ่มอื่น โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่ที่ 6-7% แต่จะเห็นกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งเฉลี่ยสูงกว่า 7% เนื่องจากกำลังซื้อหรือการบริโภคยังไม่ฟื้นเต็มที่ แต่ธนาคารจะพยายามรักษาเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลูกค้าและบริหารเอ็นพีแอลให้ปรับลดลงทางอ้อม ธนาคารจึงปรับกลยุทธ์มุ่งเน้นการสร้าง Digital Platform ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถขายของได้ง่ายขึ้นผ่านการเชื่อมร้านค้าและลูกค้าเข้าด้วยกัน ภายใต้โครงการ “Products of Chatuchak” ที่ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยกระดับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักรในเชิงดิจิตอล โดยมีบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถมีหน้าร้านอยู่ในโลกออนไลน์และแอพพลิเคชัน “จตุจักรไกด์” สำหรับลูกค้าที่สามารถหาตำแหน่ง ที่ตั้งร้านได้ง่ายขึ้น รวมถึงรับโปรโมชันแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ โครงการ “Products of Chatuchak” ตั้งเป้าดึงลูกค้าที่เป็นร้านค้าเข้าโครงการประมาณ 1 หมื่นร้านค้า โดยส่วนใหญ่เป็น ลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็ก (SSME) ที่มียอดขายตํ่ากว่า 75 ล้านบาท ซึ่งภายในเดือนตุลาคมนี้คาดจะมีลูกค้าทยอยเข้าโครงการได้ 1,000 ร้านค้า จากปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการแล้ว 30-50 ร้านค้า โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีเงินสะพัดขั้นตํ่าประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นเมื่อลูกค้าแข็งแรงขึ้นสิ่งที่ตามมาคือการทำธุรกรรมการเงิน (Transaction Banking) ทั้งขารับและขาจ่าย การเปิดบัญชีใหม่ รวมถึงการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม ตลอดจนผลทางอ้อมที่ส่งผลให้หนี้เอ็นพีแอลปรับลดลง เนื่องจากลูกค้าสามารถขายของได้มากขึ้น อัตราการผิดนัดชำระหรือปัญหาขาดสภาพคล่องจะน้อยลง

“เราใช้เวลา 2 เดือนครึ่งในการพัฒนาโครงการนี้ ใช้งบเบื้องต้นทำระบบประมาณ 97 ล้านบาท แต่คาดว่างบประมาณที่ใช้รวมในเฟสแรกจะอยู่ราวๆ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากเราทำจตุจักรสำเร็จ เราจะขยายไปเรื่อยๆ เพราะจตุจักรจะเป็น SMEs Platform ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจจะช่วยลูกค้าให้ขายของได้ง่ายขึ้น และเข้ามาอยู่ในระบบ โดยเราคาดหวังจะช่วยลดเอ็นพีแอลและเป็นธนาคารหลักในเรื่อง Transaction Banking”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560