สงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน ไม่มีอะไรในกอไผ่?

28 ส.ค. 2560 | 23:05 น.
TP6-3291-1C ปลายปีก่อนคอลัมน์นี้เขียนถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยข้อสรุปว่านโยบายดังกล่าวหากปฏิบัติจริงก็คงนำไปสู่สงครามทางการค้าครั้งใหญ่กับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกว้างไกล บัดนี้ 8 เดือนหลังจากนายทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีเรื่องนี้เริ่มคืบไปข้างหน้า แต่ก็ยังไม่ชัดครับว่าจะคืบไปทางไหน

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศความตั้งใจไว้ว่าจะขึ้นอากรสินค้านำเข้าจากจีนด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ เนื่องจากมองว่ามีปัจจัยบิดเบือนในการค้าสหรัฐฯ-จีนหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทำให้สินค้านำเข้าจากจีนมีความได้เปรียบ และเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ

TP6-3291-3C ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มเดินเครื่องในเดือนเมษายน โดยสั่งการให้รัฐมนตรีพาณิชย์กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าที่มีนัยสำคัญ เพื่อระบุประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้าอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา และต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ประกาศว่าจะดำเนินการสอบสวนว่าจีนได้รับเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ไปอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ พูดง่าย ๆ คือ มีการ “ขโมย”เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาไปจากสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าจีนไม่พอใจ โดยรัฐมนตรีพาณิชย์จีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน รวมถึงเตือนว่าการดำเนินการของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่สงครามทางการค้าระหว่างเศรษฐกิจอันดับ1 และ 2 ของโลกได้

มองเผิน ๆ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็กำลังปฏิบัติตามสัญญาเลือกตั้งอยู่ แต่พิจารณาให้ลึกโดยหากเปรียบเทียบสิ่งที่หาเสียงไว้กับการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ก็อาจมองได้ว่ายังไปไม่ถึงไหนตามที่สัญญาไว้ ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นศึกษาหรือสอบสวน แม้เวลาจะผ่านไปเกือบปีแล้วทำให้บางฝ่ายมองว่าระดับความจริงจังในการดำเนินการเรื่องนี้มีอยู่ไม่มาก เสมือนกระทำเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในและหลีกเลี่ยงการที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจถูกกล่าวหาได้ว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลายฝ่ายกแอบดีใจโดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อว่าสงครามทางการค้าจะไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย

มีผู้มองข้ามช็อตว่า เหตุผลลึก ๆ ที่แท้จริงคือประธานาธิบดีทรัมป์อาจต้องการใช้ผลประโยชน์ทางการค้าต่อรองให้จีนไปกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติแผนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นแนวคิดเชื่อมโยงที่น่าสนใจ แต่มองในมุมกลับ การเดินหมากในลักษณะนี้อาจกลายเป็นการสื่อให้จีนเห็นว่าจะทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมต่อไปก็ได้นะหากช่วยสหรัฐฯ เรื่องเกาหลีเหนือเสียหน่อย ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเมืองภายในและที่จริงแล้วข้อกล่าวหาที่ว่าจีนทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมก็ยังไม่ชัดเจนหรือหนักแน่นพอจนถึงบัดนี้ จนทำให้หลายฝ่ายใน “วงการเกาหลีเหนือ” ตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วสหรัฐฯ ควรพยายามใช้เหตุผลชักจูงให้จีนเห็นประโยชน์ร่วมกันที่จะป้องกันมิให้เกาหลีเหนือมีศักยภาพผลิตอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าใช้ผลประโยชน์ทางการค้าในภาพรวมมาต่อรองกับจีนในเรื่องยุทธศาสตร์เช่นนี้ ก็ไม่ทราบว่าฝ่ายไหนมองถูกนะครับ

ในระดับโลกการที่สหรัฐฯทำท่าจะออกมาตรการลงโทษทางการค้าฝ่ายเดียวต่อจีนบนพื้นฐานของข้อกล่าวหาว่าทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ออกจะสั่นคลอนระบอบการค้าพหุภาคีระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อยอย่าลืมนะครับว่า ตั้งแต่สหรัฐฯ เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2538สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าปี 1974 เพื่อออกมาตรการลงโทษทางการค้าต่อประเทศคู่ค้าเมื่อมีการสอบสวนฝ่ายเดียวแล้วว่าดำเนินการค้าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ใช้กลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ในการฟ้องร้องประเทศคู่ค้าให้ถอนมาตรการการค้าที่สหรัฐฯมองว่าไม่เป็นธรรมแทนมาตลอด

ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ไทยได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ นโยบายหรือมาตรการทางการค้าใด ๆของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลเป็นการสั่นคลอน WTO หากแม้ไม่ได้มีไทยเป็นเป้าโดยตรง ก็ต้องกระทบไทยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในแง่หลักการ

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็คงทำได้เพียงรอลุ้นครับว่า สหรัฐฯจะเดินต่ออย่างไร และจีนจะแก้หมากอย่างไร หากมีการออกมาตรการที่กระทบจีนอย่างเป็นรูปธรรม จีนคงไม่อยู่เฉย และจะน่าติดตามว่าต่อไปจีนจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้พิทักษ์ระบบการค้าพหุภาคีแทนที่สหรัฐฯ หรือไม่หรือเอาเข้าจริงแล้วในที่สุดก็“ไม่มีอะไรในกอไผ่” อย่างเช่นในหลาย ๆ เรื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560