‘ไทยเบฟ’ฮุบGMM25 กสท.จ่อตรวจสอบคุณสมบัติ ‘เจ๊ฉอด’นั่งบริหารต่อ

27 ส.ค. 2560 | 05:01 น.
แม้ผลประกอบการของธุรกิจทีวีดิจิตอลในครึ่งแรกของปี 2560 จะพบว่าเกือบทุกช่องขาดทุน และอยู่ในภาวะยํ่าแย่ มีเพียงช่อง 7 HD และช่องเวิร์คพอยท์ทีวีที่มีผลกำไร ขณะที่ในปี 2559 พบว่าช่องที่ขาดทุนมากที่สุด ได้แก่ ช่องพีพีทีวี ซึ่งขาดทุน 1,996 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ไทยรัฐทีวี 928 ล้านบาท ช่องอัมรินทร์ทีวี 846 ล้านบาท โมเดิร์นไนน์ทีวี 782 ล้านบาท และภาพรวมของทีวีดิจิตอลในครึ่งปีหลังก็ยังไม่มีสัญญาณบวกที่ชัดเจนพอที่จะผลักดันให้ธุรกิจมีการเติบโต ท่ามกลางความไม่ชัดเจน แต่เมื่อธุรกิจต้องเดินหน้าและละลายเม็ดเงินแบบนาทีต่อนาที ทำให้ผู้ ประกอบการแต่ละรายต้องดิ้นรนที่จะหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนเพื่อพยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป

MP36-3291-A ล่าสุดการร่วมลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ของบริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี 2 เจ้าสัวน้อยกลุ่มไทยเบฟเวอเรจในสัดส่วน 50% ทำให้ได้สิทธิ์ในการถือหุ้นบริษัทในเครืออย่างจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ผู้บริหารทีวีดิจิตอลช่อง GMM 25 บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) รวมถึงเอ-ไทม์ มีเดีย และเอ-ไทม์ ทราเวิล
เลอร์ ถือเป็นอีกก้าวที่ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เดินหน้าสู่ธุรกิจสื่อเต็มตัว จากก่อนหน้านี้ที่เข้าถือหุ้นบมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ทำให้ได้สิทธิ์ในการบริหารช่องอัมรินทร์ทีวีไปด้วย

ต่อเรื่องดังกล่าว พ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดีและนายปณต สิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้งฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารช่องทีวีดิจิตอล GMM 25 และก่อนหน้านี้ก็ได้เข้าถือหุ้นช่องอัมรินทร์ทีวี ของกลุ่มอมรินทร์พริ้นติ้ง ซึ่งอาจจะทำให้เข้าข่ายผิดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ตามที่กสทช. กำหนดนั้น

กสท. จะต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จ ซึ่งเบื้องต้นหากดำเนินการถูกต้องและไม่ผิดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตก็จะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิด รวมถึงกรณีเป็นนอมินีด้วย

ด้านนางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกรณี บริษัท อเดลฟอส จำกัด บริษัทนิติบุคคลที่มีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เข้ามาร่วมถือหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 50% มูลค่าเงินลงทุน 1,000 ล้านบาทว่า เป็นดีลการเจรจาเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน ไม่ใช่การขายหุ้นเดิม ทั้งนี้เชื่อว่าเพราะอเดลฟอสมองเห็นถึงศักยภาพ อัตราการเจริญเติบโตของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้งว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะความนิยมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องตลอด อีกทั้งมีความเชื่อมั่นในการบริหารงานของทีมงานของบริษัท

ทั้งนี้การร่วมทุนดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะมาช่วยเสริมให้บริษัทมีความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์มากขึ้น โดยจะส่งผลให้มีการเติบโตได้เร็วขึ้นในอนาคต ถือเป็นการต่อยอดครั้งสำคัญของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง เพราะปัจจุบันบริษัทแกรมมี่ฯ มีจุดแข็งทางด้านคอนเทนท์ และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีรายการที่ทันยุคสมัย หลากหลายและโดนใจผู้ชม การเพิ่มทุนจึงช่วยให้สามารถลงทุนในด้านคอนเทนต์ต่างๆ ของช่องได้มากขึ้นและเชื่อว่าหลังจากการเพิ่มทุนและเสริมความแกร่งด้านคอนเทนต์ จะส่งผลให้อันดับเรตติ้งช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดีปัจจุบันบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบไปด้วย จีเอ็มเอ็ม แชนแนล (ช่องจีเอ็มเอ็ม 25) จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (คลื่นวิทยุเอ-ไทม์ มีเดีย) จีเอ็มเอ็ม ทีวี และเอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ โดยการเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถือหุ้นในสัดส่วน 50% (จากเดิม 100%) และบริษัท อเดลฟอสฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ขณะที่โครงสร้างการบริหารของกลุ่ม จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560